ผู้ว่าฯเลยไฟเขียว หนุนบูรณาการร่วมพัฒนาเมือง
บพท.จุดประกายด้านการพัฒนาเมือง ร่วมกับบริษัท เลยพัฒนาเมือง จำกัด จัดเวที “เลย ฟอรั่ม : LOEI FORUM” รับฟังความเห็นพร้อมดึงกูรูร่วมผลักดัน ด้านผวจ.เลยยันสนับสนุนเต็มที่พร้อมชี้แนวทาง แนะเร่งบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมานายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน “เลย ฟอรั่ม : LOEI FORUM” การพัฒนาโจทย์วิจัยและนวัตกรรมจังหวัดเลยอย่างสร้างสรรค์ และความคาดหวังการพัฒนาจังหวัดเลยอย่างยั่งยืน ที่จัดโดย บริษัทเลยพัฒนาเมือง จำกัด โดยมีใจความสำคัญในหลายประเด็นว่า ได้เข้ามาคลุกคลีกับการพัฒนาจังหวัดเลยมาตั้งแต่ปี 2528 รับราชการในจังหวัดเลยมา 3 รอบ โดยช่วงก่อนนั้นตนได้ตั้งความฝันตั้งแต่เข้ารับราชการมาตั้งแต่ 30 กันยายน 2528 ว่าอยากเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเข้าใจเรื่องการพัฒนามาเป็นอย่างดี ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือด้วยดี สิ่งเหล่านั้นคือแรงบันดาลใจในการทำงานเสมอมา ล่าสุดได้มีการร่วมหารือกับนายณัฐพล เหลืองวงษ์ไพศาล ประธานกรรมการบริษัทเลยพัฒนาเมือง จำกัด และประธานหอการค้าจังหวัดเลย ทำให้เห็นภาพการพัฒนาจังหวัดเลยที่ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยการนำของภาคเอกชน
สิ่งที่เห็นคือทุกคนคิดตรงกัน มีแนวทางเดียวกัน แต่การจะก้าวไปสู่จุดหมายยืนยันว่าคงไม่ง่ายเสมอไป เช่นเดียวกับที่มีผู้เสนอแนวคิดที่ต้องการจะให้มีการสร้างสกายวอร์ค หรือการพัฒนาภูบ่อบิด ยังถือว่ามีเรื่องใหญ่ของการพัฒนาจังหวัดเลยอีกมากมาย มีปัญหาอุปสรรคอีกมากมายที่จะต้องร่วมมือกันฝ่าฟัน
ดังนั้นทุกมิติจึงสามารถนำมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนทุกๆเรื่องได้ทั้งหมด โดยเรื่องที่คนส่วนใหญ่ต้องการของจังหวัดเลยพบว่าเป็นเรื่องของการศึกษา ยอมรับว่าจับเรื่องข้อมูลหรือบิ๊กดาต้ามาเมื่อช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งยังทราบว่ามีรุ่นพี่รุ่นน้องอีกหลายคนที่ไม่มองเรื่องนี้ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก
สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆที่ผ่านมาจะรู้กันดีว่าจะเป็นภาคราชการเป็นหลัก แต่ในเรื่องการพัฒนาเมืองปัจจุบันจะพบว่าหลายจังหวัดได้รับการขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชน ภาคประชาชนมากขึ้นจึงเกิดเป็นบริษัทพัฒนาเมืองแล้วในหลายจังหวัด ดังนั้นจังหวัดเลยในวันนี้ผมจึงอยากเห็นการพัฒนาเมืองถูกขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เพราะเห็นว่านั่นคือสิ่งที่ถูก สิ่งที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดเลย
โดยเริ่มจากคนกลุ่มหนึ่งแล้วค่อยขยายวงกว้าง หาประเด็นหรือคอนเทนท์เด่นๆไปขับเคลื่อน นำมารวบรวมหล่อหลอมรวมกัน ระดมความเห็นกันแล้วนำไปแยกหมวดหมู่ให้ชัดเจนเพื่อจะได้ขับเคลื่อนไปในทิศทางได้อย่างรวดเร็วขึ้น เรียกว่าเริ่มต้นจากข้อมูล เริ่มต้นจากภาคส่วนและผู้คนที่เกี่ยวข้องดังนั้นทุกคนจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่เพื่อจะร่วมกันเดินหน้าการพัฒนาเมืองต่อไปได้
ประการหนึ่งนั้นช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคอย่างมากในการพัฒนา ณ วันนี้การขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด หรือท้องถิ่นจังหวัดเลย ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งจากการได้ไปถ่ายทอดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดในหลากหลายแง่มุม เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือตัวแทนของประชาชนที่จะต้องรู้ความต้องการของประชาชน รู้ว่ารูปแบบจะพัฒนาอะไร ภายใต้กรอบ กฎ กติกาที่มีข้อตกลงร่วมกันจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ควรใช้การบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมเพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดนั่นเอง
“ในวันนี้จึงอยากเห็นการที่เริ่มต้นถูกต้องตั้งแต่แรก จากนั้นผู้ที่รอบรู้จากมหาวิทยาลัยต่างๆที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนจะได้นำไปต่อยอดการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นต่อไปให้ความต้องการแต่ละเรื่องสอดคล้องกับการพัฒนาจังหวัดเลย เบื้องต้นขอเพียง 2 เรื่องก่อน คือ 1.เรื่องที่เกิดผลต่อชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง รัฐบาลมีนโยบายอย่างไรต้องว่าตามกัน 2.ให้มีอาชีพและมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจังหวัดเลยสามารถหารายได้จากภาคเกษตรกรรมสมัยใหม่ ผสมผสาน เศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และภาคการท่องเที่ยว”
ด้านนายณัฐพล เหลืองวงษ์ไพศาล ประธานกรรมการบริษัทเลยพัฒนาเมือง จำกัด และประธานหอการค้าจังหวัดเลย กล่าวเสริมว่า มีหลายเรื่องที่ต้องได้รับการพัฒนา อีกทั้งบางเรื่องเห็นว่าภาครัฐมีข้อจำกัดที่จะทำได้ หรือขับเคลื่อนได้ช้า ดังนั้นหากสิ่งไหนที่ภาคเอกชนทำได้ก็ควรเร่งดำเนินการ ไม่ควรรอความช่วยเหลือจากภาครัฐให้ล่าช้าอีกต่อไปจึงเป็นการรวมตัวกันของสมาชิกหอการค้ามาตั้งเป็นบริษัทเลยพัฒนาเมือง จำกัด เพื่อนำคนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองสนองความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้หลายประการ มีการตั้งเป้าหมายพัฒนาเบื้องต้นในการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ของเมืองให้ได้ก่อน ด้วยการเร่งผลักดันระบบรถโดยสารสาธารณะให้บริการประชาชนในหลายเส้นทางเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลพิษและลดปริมาณจราจรที่หนาแน่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงต้องเร่งวางแผนและแก้ไขรองรับไว้ตั้งแต่วันนี้
โดยโครงสร้างพื้นฐานจะกำหนดไว้ 2 ด้าน คือระบบหลัก เช่น ถนน สะพาน ไฟฟ้า ประปา ขนส่งมวลชน เนื่องจากจังหวัดเลยถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวหากนักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวยากก็จะไม่ได้รับความสนใจ ไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด อีกเรื่องคือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล คือระบบเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตต่างๆ อำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางได้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกรวดเร็วทางสื่อทันสมัย ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ตามสถานที่ท่องเที่ยวให้มากและง่ายที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องใช้บริการออฟฟิศทำงานก็สามารถปฏิบัติงานได้
ปัจจุบันหากจะเดินทางมาจังหวัดเลย โดยเดินทางเป็นกลุ่มสามารถใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดเลยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง รูปแบบต่อมาคือเดินทางด้วยสายการบินต่างๆประมาณ 1 ชั่วโมง โดยจังหวัดเลยมีพร้อมแล้วทั้งสนามบินและสถานีขนส่งผู้โดยสาร เพียงแต่มาจัดระบบเชื่อมต่อให้ใช้บริการเข้าถึงจุดต่างๆทั้งรถบัสขนาดเล็ก รถตู้ รถสองแถว หรือรถในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น
“แนวคิดคือจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ระหว่างอำเภอคงจะต้องใช้รถตู้ การบริการจะต้องสอดคล้องกับสายการบินในช่วงปกติวันละ 2 ไฟต์ ช่วงไฮซีซันวันละ 4 ไฟต์ ทั้งสายการบินนกแอร์และแอร์เอเชีย และเที่ยวการเดินรถบัสโดยสารที่สถานีบขส.”
ทั้งนี้จังหวัดเลยจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน เรียกว่า “กลุ่มสบายดี” ถือว่าไม่ใช่เมืองผ่าน แต่เป็นเมืองจุดหมาย ปัจจุบันจังหวัดเลยยังมีทิศทางการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนคือ ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพได้อย่างไรบ้าง ทั้งเป็นหมู่ ครอบครัว และมาเดี่ยวๆ โดยระบบโลจิสติกส์จะต้องอำนวยความสะดวกให้คนทั้งจังหวัดเลยและใกล้เคียงได้อีกด้วย
“จัดทำป้ายแนะนำเส้นทางเดินทางใหม่ จุดจอดรถที่ทันสมัย ปลอดภัย อัจฉริยะจริงๆ โดยจะต้องลดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาในเมือง จัดระบบบริการรถโดยสารสาธารณะในเมืองให้เกิดความสะดวกและทั่วถึงให้มากที่สุด หากสามารถจัดรถนักเรียนให้บริการโดยไม่จัดเก็บค่าโดยสารเชื่อว่าจะลดปริมาณรถจักรยานยนต์ลงไปได้อีกมาก เนื่องจากการซื้อรถ 1 คันคือภาระของครอบครัว ภาระในการจัดหาจุดจอด ต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา หากเปิดให้บริการรถสาธารณะขึ้นมารองรับเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจะส่งผลดีตามมาอีกมากมาย”
ประการสำคัญเชื่อว่าจังหวัดเลยเป็นกลุ่มจังหวัดแรกๆที่หลายคนเลือกจะเดินทางมาท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวปีนี้ ดังนั้นหากทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ สะดวกต่อการเดินทางจึงเป็นโจทย์ที่บริษัทเลยพัฒนาเมืองพร้อมจะบูรณาการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายกับภาคส่วนต่างๆต่อไป
“เมืองเลยแบ่งโซนพื้นที่หลักๆ ได้เป็น 3-4 โซน คือ 1.โซนภูกระดึง หนองหิน ภูหลวง ผักขาว เอราวัณ ที่น่าจะใช้รูปแบบแอดเวนเจอร์ ขึ้นเขา เดินถ้ำ ท่องป่า ในขณะที่โซนเชียงคาน ท่าลี่ ภูเรือ ด่านซ้าย จัดเป็นโซนวัฒนธรรม ส่วนเส้นเชียงคาน ปากชม จัดเป็นเส้นทางโรแมนติกรูท เชื่อมต่อไปอีก 6 จังหวัดภาคอิสานพื้นที่ริมแม่น้ำโขงได้อีกด้วย ส่วนโซนอำเภอเมืองเหมาะต่อการจัดอบรมสัมมนา แล้วค่อยไปท่องเที่ยวยังอำเภอหรือโซนต่างๆต่อไป”
นายธีรวัฒน์ บรรจงเลี้ยง กรรมการบริหาร บริษัท เลยพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า ได้เคยร่วมหารือกับรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม และนายปรเมษฐ์ บันสิทธิ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ทราบว่ามีการนำการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไปดำเนินการก่อน จึงได้เริ่มจดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทเลยพัฒนาเมืองจำกัดขึ้นในปีนี้ โดยโครงการแรกที่เตรียมจะนำเสนอคือการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรูปแบบรถเมล์โดยสารสาธารณะ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่
โดยได้มีการศึกษา ปรึกษาหารือกับหน่วยต่างๆพร้อมออกแบบเส้นทางเบื้องต้นรองรับไว้แล้ว หลังจากนี้บริษัทเลยพัฒนาเมืองจำกัด จะเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อรองรับการพัฒนาจังหวัดเลยในอนาคตดังเช่นเมืองหลักๆในประเทศต่างๆที่พัฒนาแล้วจะเน้นการใช้ระบบขนส่งมวลชนกันมาก ต้องจัดพื้นที่จุดจอดรถยนต์ส่วนบุคคลไว้ด้านนอกเมือง แล้วจัดระบบขนส่งมวลชนเชื่อมมาในพื้นที่เมืองให้เข้าถึงพื้นที่เศรษฐกิจ โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์การค้าต่างๆได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น
“โครงการเลยคอนเนครูปแบบสมาร์ทโมบิลิตี้คือรถเมล์เลนคู่ที่อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ รัศมีให้บริการรอบตัวเมือง คาดปี 2565 จะเห็นภาพชัดเจนด้านการทดสอบและบริการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างปฏิบัติตามขั้นตอนร่วมลงทุน โดยภาคเอกชนพร้อมระดมทุนและบริหารจัดการ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทั้ง 7 แห่งตามแนวเส้นทางและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นเจ้าของพื้นที่ให้บริการได้เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี ป้ายสถานีสะดวก สะอาด ปลอดภัยจริง”
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ที่ปรึกษาและวิทยากรกระบวนการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า เบื้องต้นเห็นว่าองค์ประกอบต่างๆด้านการพัฒนาของบริษัทเลยพัฒนาเมือง จำกัด ครบแล้ว น่าจะขับเคลื่อนต่อไปได้ดี ภาพใหญ่ยังเป็นเรื่องการพัฒนาที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปร่วมจึงต้องจัดบุคลากรเข้าไปขับเคลื่อนเรื่องนี้มากขึ้นให้เกิดการบริหารจัดการที่ได้ประสิทธิภาพมากและรวดเร็วขึ้นให้เข้าถึงการปฏิบัติได้จริง
“บทบาทของหน่วยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติจะเข้ามาเติมเต็มเรื่องนี้ เน้นการสร้างคนหรือบุคลากรให้สามารถขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จึงเชื่อว่าเลยพัฒนาเมืองน่าจะก้าวต่อไปเนื่องจากได้เรียนรู้จากอีกหลายบริษัทพัฒนาเมืองมาแล้วส่วนหนึ่งและนำมาลงสู่ภาคปฏิบัติจริงอีกส่วนหนึ่งจึงสามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ร่วมกันอีกด้วย”