ดีเดย์ มี.ค.64 เริ่มย่านอัจฉริยะบางกะปิ

เมื่อ 28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมานายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้เกียรติกล่าวเปิดการเสวนาพร้อมปาฐกถาพิเศษ “อนาคตเมืองบางกะปิที่ประชาชนและทุกภาคส่วนร่วมสร้างสรรค์” ภายใต้แผนงานโครงการ “กลไกสร้างสรรค์พื้นที่ย่านเมืองอัจฉริยะน่าอยู่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาย่านบางกะปิและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” โดยมี พ.ต.อ.รศ.ดร.ประพนธ์ สหพัฒนา รองอธิการบดี (วิชาการ) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม NIDA (หัวหน้าโครงการวิจัย) นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. พร้อมด้วยภาคเอกชน ประชาชน บริษัทสถาปนิกและนักวิจัยโครงการร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 3002 อาคารนวมินทร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

รองผู้ว่าราชการกทม.กล่าวว่า สำหรับอนาคตย่านบางกะปิที่หลายภาคส่วนร่วมสร้างสรรค์นั้นทาง กทม.และนิด้าได้ประสานความร่วมมือกันมาโดยตลอด วันนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของโครงการซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่ใน กทม. พบว่ามีการพัฒนารุดหน้าอย่างมาก หากพื้นที่ไหนมีศักยภาพและความร่วมมือสูงก็จะมีความก้าวหน้าที่รวดเร็วกว่า โดยเฉพาะพื้นที่แนวถนนสายหลักที่มีอาคารขนาดใหญ่ มีห้างสรรพสินค้า แม้กระทั่งพื้นที่ตาบอดที่ไม่สามารถพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาได้ ก็พบว่ามีความพยายามนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น กทม. จึงเติบโตไม่พร้อมกัน

ยอมรับว่า กทม. ขณะนี้มีปัญหามากจริงๆ อาทิ ด้านการจราจร มลพิษ น้ำท่วม ซึ่งมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่จะพบว่าภาคราชการจะเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นๆ ไม่ประสบความสำเร็จแน่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย น้ำท่วมครั้งใดจะพบว่ามีปริมาณขยะจำนวนมาก ปัญหาของเมืองใด ๆ ก็ตามถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือเชื่อว่าไม่มีทางแก้ไขได้สำเร็จ

เร่งเชื่อมรถ ราง เรือ

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งดีที่ชาวบางกะปิมารวมตัวกันเกิดความคิดที่จะพัฒนาร่วมกัน หากมองไปอนาคตข้างหน้าอีก 10 ปีของบางกะปิจากที่ปัจจุบันมีถนนสายหลัก 2 เส้นทางคือลาดพร้าวและรามคำแหงก็จะมีรถไฟฟ้าอย่างน้อย 2-3 สายคือสายสีเหลือง สายสีส้ม และสายสีน้ำตาลเชื่อมเข้ามายังพื้นที่ จึงจะเป็นพื้นที่ที่จะมีความเจริญไม่น้อยไปกว่าพื้นที่อื่นของกทม.ที่รถไฟฟ้าผ่านในปัจจุบัน

ปัญหาของบางกะปิ คืออาคารเป็นตึกแถวสภาพเก่า สร้างตามรูปแบบเดิม ถนนขยายไม่ได้จึงเป็นข้อจำกัดอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของแนวคิดการสร้างสกายวอร์คตามแนวถนนและแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมโยงพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งคิดและวางแผนไว้ตั้งแต่วันนี้

“บางกะปิเป็นจุดที่มีลักษณะพิเศษกว่าพื้นที่อื่นๆ เป็นจุดรวมการเปลี่ยนถ่ายทางสัญจร ล้อ ราง เรือ เชื่อว่าในอนาคตการขนส่งทางน้ำจะมีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกันแม้จะมีรถไฟฟ้าแล้วก็ตาม ประการสำคัญหากกทม. มีระบบการส่งน้ำที่สมบูรณ์แล้วจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ระบบเขื่อน ประตูกั้นน้ำต่างๆ จะเอาออกไปเพื่อให้สัญจรทางเรือได้สะดวกขึ้น โดยจะมีการขุดลอกคลองแสนแสบ แต่ขณะนี้พบว่ามีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนริมคลองจึงต้องเร่งทำความเข้าใจกันต่อไป”

รองผู้ว่า กทม. กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการพัฒนาบางกะปินั้นตั้งแต่เข้ามาสัมผัสล้วนเห็นถึงความร่วมมือกันเป็นอย่างดี บางรายพร้อมลงขันมาช่วยกันขับเคลื่อน จึงเชื่อว่าหากทำพื้นที่บางกะปิได้สำเร็จ ก็อยากจะให้ใช้เป็นต้นแบบการพัฒนา กทม. ให้คนรุ่นต่อไปสามารถสานต่อรูปแบบนั้นไปได้โดยไม่ต้องกลับมาเริ่มต้นออกแบบกันใหม่ เชื่อว่าหากทุกคนทุกพื้นที่มาร่วมกันนำเสนอแนวคิดดีๆ จะสามารถพัฒนา กทม. ให้เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าต่อไปได้ ปัญหาของเมืองจะค่อยๆ คลี่คลายและหมดไปในที่สุดเพราะประชาชนทุกคนมีความสำคัญและทุกคนคือนักออกแบบเมืองนั่นเอง

นิด้าพร้อมประสานทุกฝ่ายเร่งขับเคลื่อน

ด้าน พ.ต.อ.รศ.ดร.ประพนธ์ สหพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า ทั้ง 4 ฝ่ายที่ให้เกียรติเข้ามาร่วมเสนอแนะความเห็นต่างๆ ทั้งฝ่ายนักวิชาการ นักธุรกิจ ฝ่ายผู้บริหารท้องถิ่น และฝ่ายชุมชน จึงน่าจะแลกเปลี่ยนความรู้ต่อกันได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งช่วงก่อนนี้ประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาได้นำโครงการส่งประกวด Smart Cities-Clean Energy ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งนิด้าก็ได้พัฒนาเฉพาะในพื้นที่นำร่องไปก่อนในรูปแบบประหยัดพลังงาน สมาร์ทบิวดิ้ง การเชื่อมต่อล้อ ราง เรือ ทำให้นิด้าเป็น 1 ทีมที่ชนะเลิศ

การพัฒนาดังกล่าวทำให้ได้คอนเซปต์ในการพัฒนาเพื่อนำไปต่อยอดสู่โครงการในปัจจุบันนี้ อาทิ การต่อยอดระบบเชื่อมต่อล้อ ราง เรือ ที่สอดรับกับการมีรถไฟฟ้าผ่านเข้ามาในพื้นที่บางกะปิ 2-3 สายเพื่อให้รถไฟฟ้าเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้ นอกจากความสะดวก สบายด้านการเดินทาง การพัฒนาครั้งนี้ต้องมองในภาพใหญ่ทั้งๆ ที่ยังไม่มีงบประมาณ มีเพียงเงินขวัญถุงจากรางวัลชนะเลิศที่ได้รับมาเท่านั้น

“แนวทางหนึ่งคือการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กทม. ศูนย์การค้า ร้านค้าขนาดใหญ่โดยได้รับความช่วยเหลือจากการช่วยออกแบบพื้นที่ว่าจะออกมาอย่างไรเพื่อนำเสนอ กทม. พิจารณาร่วมผลักดันต่อไป ยอมรับว่าประโยชน์ของสกายวอร์คจะเกิดได้กับนิด้า ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ โดยนิด้าจะประสานความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

ด้าน ผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม NIDA หัวหน้าโครงการวิจัย “กลไกสร้างสรรค์พื้นที่ย่านเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาย่านบางกะปิและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างความร่วมมือและโอกาสในการร่วมลงทุนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับกรุงเทพมหานคร

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ และเกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน เพื่อสร้างกลไกเครือข่ายพัฒนาย่านบางกะปิ บนพื้นฐานของข้อมูลประวัติศาสตร์ คุณลักษณะปัจจุบัน โอกาสและแนวโน้มอนาคต โดยสร้างเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงสถิติของย่านบางกะปิ และเพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นที่ในระดับย่านและการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองร่วมกันระหว่างรัฐบาล เอกชน นักวิชาการและประชาชน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้มี 4 ภาคีเข้าร่วมยกระดับการเดินทางสู่เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ย่านบางกะปิและนิด้าที่ประชาชนในพื้นที่ร่วมคิด ออกแบบและวางแผนเพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

โดยลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินมีครบทั้งการศึกษา พื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์กลางคมนาคมทั้งทางเรือคลองแสนแสบและทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีส้ม สายสีน้ำตาล ที่จะผ่านพื้นที่บางกะปิ และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565-2566 ทั้งนี้สมาร์ทซิตี้หมายถึงเมืองที่มีความน่าอยู่ ทันสมัย มีความยั่งยืน แต่ต้องเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประชาชนเจ้าของพื้นที่ ชุมชน ร่วมกับผู้บริหารเมือง นักวิชาการในพื้นที่ ตลอดจนภาคธุรกิจในพื้นที่ ร่วมกันออกแบบ เสนอแนะการพัฒนาเมืองเพื่อเสนอผู้มีหน้าที่นำไปปฏิบัติให้ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

“แนวคิดเกิดจากความต้องการว่าจะทำให้บางกะปิน่าอยู่ได้อย่างไร ซึ่งการระดมความเห็นต่อแบบการพัฒนาเริ่มมากว่า 1 ปีแล้วจากหลายฝ่ายที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้บางกะปิทันสมัย น่าอยู่ อย่างยั่งยืนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ สังคมและภาครัฐควบคู่กันไป เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระบบคมนาคม ล้อ ราง เรือ ซึ่งพื้นที่ศึกษา 4 ตร.กม. พบว่ามีการใช้งานอย่างผสมผสานทั้งที่อยู่อาศัย สถานศึกษา ตลาด ย่านพาณิชย์ จึงเป็นหลักของการพัฒนาเมืองที่กระชับ เหมาะที่จะสร้างสมดุลทางสังคมและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ประการสำคัญที่สุดก่อให้เกิดการลงทุนร่วมกัน”

กทม.จัดงบ 900 ล้านลุยสกายวอร์คปี 64

ด้านนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า นับเป็นสิ่งดีที่โครงการนี้ได้รับความร่วมมือที่ดีจากหลายภาคส่วน เป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายพื้นที่นำไปดำเนินการ เกิดจากการบูรณาการภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ เชื่อว่าหลายคนเมื่อเห็นแบบสำเร็จแล้วต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

“โครงการนี้เกิดแล้วจะส่งผลดีตามมาแน่ล่าสุดได้รับอนุมัติงบประมาณจากสภา กทม. กว่า 900 ล้านบาทซึ่งจัดเป็นงบลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงวิกฤตปีนี้ คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาไม่เกินเดือนมีนาคม 2564 หลังจากนั้นภายในระยะเวลา 18 เดือนจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการเร่งสรุปแบบรายละเอียดสกายวอล์คและสกายปาร์คอันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของบางกะปิสมาร์ทซิตี้ เพื่อจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องต่อไป”