บูรณาการร่วม 26 นักวิจัย ปั้น “ธัญบุรี” ชุมชนน่าอยู่อัจฉริยะ

มทร.ธัญบุรีเร่งขับเคลื่อนตามแผนรับทุนของบพท. ผนึกภาครัฐ-ภาคประชาสังคมบูรณาการร่วม 26 นักวิจัยจาก 7 คณะเดินหน้าโครงการ “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์” เพื่อหากลไกพัฒนาลักษณะทางกายภาพพื้นที่คลองธัญบุรี พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชุมชนชานเมืองเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่าตามที่ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) ภายใต้โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม แผนงานริเริ่มสำคัญ(Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ และเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ Smart City เพื่อดำเนินโครงการ “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์” ในพื้นที่อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

โดยตามแผนดำเนินการมีส่วนประกอบ 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1.แนวทางการออกแบบและพัฒนาพื้นที่คลองและพื้นที่ว่างเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วม 2.การพัฒนาออกแบบที่อยู่อาศัย เสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาในผู้สูงอายุ และ 3.แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนเคหะชุมชนรังสิต(คลองหก)

แนวทางการดำเนินการครั้งนี้เป็นการบูรณาการงานวิจัยจากคณะผู้วิจัย 26 คนจาก 7 คณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะบริหารธุรกิจ และวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย

เดินหน้าสร้างกลไกร่วมกับชุมชน

วัตถุประสงค์เพื่อหากลไกที่เหมาะสมในการพัฒนาลักษณะทางกายภาพในการพัฒนาพื้นที่คลองอำเภอธัญบุรี วิถีชีวิตของชุมชนชานเมืองธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเมืองน่าอยู่ และเพื่อหาแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนชานเมือง และการมีงานทำในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการรองรับการพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางในอนาคต

ผศ.ดร.วารุณีกล่าวต่อว่า เป้าหมายหลักจะใช้พื้นที่ตัวอำเภอธัญบุรีเป็นต้นแบบสร้างเมืองปทุมธานีให้เป็นเมืองอัจฉริยะด้วยการพัฒนาด้านมิติสิ่งแวดล้อม ชุมชน เศรษฐกิจเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของอำเภอธัญบุรีที่เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชน พื้นที่การเกษตรของทั้ง 6 เมืองที่จะป้อนเข้าสู่กรุงเทพมหานครโดยธัญบุรีจะเป็นศูนย์กลางที่จะบูรณาการร่วมทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยราชการ และหน่วยงานด้านการเกษตรในพื้นที่

“ปัจจุบันธัญบุรีถือว่าเป็นเมืองการศึกษา มีสถาบันทันสมัยด้านเทคโนโลยีอย่างเทคโนธานี มีสวนสัตว์ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดให้คนเข้ามาในพื้นที่ อีกทั้งในอนาคตแนวโน้มอำเภอธัญบุรีจะเติบโตเป็นศูนย์กลางในหลายด้านรวมทั้งด้านเศรษฐกิจจึงต้องพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะรองรับไว้ตั้งแต่วันนี้”

แนวทางการพัฒนาจึงต้องเร่งหากลไกที่เหมาะสมกับกายภาพ การพัฒนาพื้นที่คลอง ที่มีตั้งแต่คลอง 1-คลอง 16 ซึ่งรัชกาลที่ 5 ดำเนินการสั่งขุดไว้ตั้งแต่ในอดีตกาลวัตถุประสงค์คือเพื่อพลิกฟื้นวิถีชีวิตชุมชนของลำคลองต่างๆให้อยู่ดีกินดี

นำร่องชุมชนคลองหก 1,000 หลังคาเรือน

ผศ.ว่าที่ตรีร้อยตรีกิตติศักดิ์ วิทยาโกมลเลิศ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ในเบื้องต้นโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะดำเนินการนำร่องในพื้นที่ชุมชนคลองหกมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 1,000 หลังคาเรือน ใกล้โรงพยาบาลธัญบุรี และสถานที่สำคัญๆจึงต้องมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ต้องพึ่งพาอาศัยสถานที่ตลาดชุมชนคลองหก

“โซนหนองเสือเป็นพื้นที่การเกษตร สามารถเปิดตลาดค้าขายสินค้าหรือส่งขายไปยังที่ต่างๆได้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน ยังไม่ได้มองเรื่องพัฒนาการท่องเที่ยว โดยหลักจะออกแบบและพัฒนาพื้นที่คลองต่างๆบริเวณไหนที่เป็นพื้นที่ว่างสามารถนำมาพัฒนาได้บ้าง ให้สอดคล้องกับการกำหนดของผังเมือง”

ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ ไชยสังข์ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่าปัจจุบันในพื้นที่ตลาดมีประชากรหลากหลายเพศวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จึงต้องเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้เป็นพื้นที่เมืองน่าอยู่ สุขภาวะรื่นรมย์ได้อย่างไรเพื่อให้ทุกคนเตรียมความพร้อมว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างให้พร้อมกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันดำเนินการ

ประกอบกับขณะนี้ทราบว่าทางมทร.ธัญบุรีอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมโยงพื้นที่ธัญบุรีกับพื้นที่รังสิตที่มีระบบรถไฟฟ้าสายหลักอย่างสายสีแดงเตรียมจะเปิดให้บริการในปี 2564 นี้ จะทำให้พื้นที่ธัญบุรีมีความตื่นตัว ประชาชนและนักท่องเที่ยวจะเข้ามาสู่พื้นที่มากขึ้น โดยคณะนักวิจัยได้มีการออกแบบการเชื่อมต่อรองรับไว้แล้ว

ในส่วนการกระตุ้นทางเศรษฐกิจนั้นเนื่องจากพื้นธัญบุรีที่มีคลองจำนวนมากและมีผักตบชวาจึงส่งเสริมให้มีการแปรรูปผักตบชวามาเป็นผลผลิตออกจำหน่าย เป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์สร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัวในแต่ละชุมชน

เร่งปลดล็อคข้อจำกัดการพัฒนาพื้นที่

ผศ.ดร.วารุณี กล่าวต่อว่า สำหรับข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่นั้นเนื่องจากพื้นเพชุมชนเดิมเป็นชุมชนอาศัยอยู่ตามแนวคลองส่วนใหญ่จึงเป็นการดำเนินงานตามวิถีชุมชนรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเทศบาลในแต่ละพื้นที่กำหนดพื้นที่การพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ส่วนมทร.ธัญบุรีเข้าไปเสริมด้านการออกแบบเชิงพัฒนาเศรษฐกิจ

“พื้นที่มีหลายรูปแบบมากในธัญบุรี แต่เลือกใช้พื้นที่ชุมชนคลองหกมาดำเนินการเนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่จึงน่าจะเห็นผลชัดเจนและรวดเร็วกว่า เนื่องจากมีงบประมาณจำกัดและระยะเวลาค่อนข้างน้อยมาก ก่อนขยายไปสู่พื้นที่อื่นต่อเนื่องกันไปโดยจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ให้รอบคอบ โดยเฉพาะศูนย์เศรษฐกิจขนาดรองลงมาที่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ จึงเป็นข้อดีที่โครงการครั้งนี้จะเข้าไปต่อยอดการพัฒนาได้ทันที”

ชี้ทิศทางการพัฒนาเมืองชัดเจน

ด้านทิศทางการพัฒนาเมืองจะเน้นไปในทิศทางใดนั้น ทางคณะนักวิจัยของมทร.ธัญบุรี เห็นว่าจะช้าหรือเร็วโซนรังสิตและธัญบุรีจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงตามมาแน่ๆ รวมทั้งพื้นที่ล้อมรอบ เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าเชื่อมมาถึงทั้ง 2 เส้นทาง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรองรับไว้ก่อน

โดยในการลงพื้นที่ของคณะผู้วิจัยภาคประชาชนมีความกังวลด้านการบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมของเมือง การเชื่อมโยงของระบบคมนาคมขนส่ง ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการหารือร่วมกับเทศบาลในพื้นที่ไว้พร้อมแล้วว่าจะเตรียมรับมือไว้อย่างไรต่อไป เช่นเดียวกับโรงพยาบาลในพื้นที่ โดยเบื้องต้นนั้นจึงต้องเร่งยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

“ปัจจัยที่จะมีผลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองนั้น มองว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นจะมีผลทางด้านมลภาวะ ซึ่งตามแผนพัฒนาโครงการจะจัดให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเข้าไปไว้ด้วย ให้เป็นเมืองน่าอยู่มากขึ้นแล้วยังต้องอ้างอิงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐ มองเรื่องผังเมืองที่จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองซึ่งผังเมืองปทุมธานีอยู่ระหว่างการประกาศใช้บังคับ อีกทั้งยังมีเรื่องขยะ สิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะเป็นเมืองเกษตรกรรม-อุตสาหกรรมก็ตามจึงต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเมื่อมีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมากจะเกิดปัญหาขยะตามมา ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสภาวะรื่นรมย์กับชุมชนในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามยังเน้นการคงพื้นที่เกษตรกรรมไว้ให้มากที่สุด” ผศ.ดร.วารุณี กล่าวในตอนท้าย