บพท.จุดประกาย “ลำปางพัฒนาเมือง”

จังหวัดลำปางจัดเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองโดยก่อตั้ง บริษัทลำปางพัฒนาเมือง จำกัด ของภาคเอกชนร่วมกันเข้ามาดำเนินการโดยมีนายกิตติ จิวะสันติการ เป็นประธานกรรมการ ผู้นำในการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองลำปางในรุ่นแรกนี้

ด้านนายกิตติ จิวะสันติการ ประธานกรรมการ บริษัทลำปางพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารบริษัทลำปางพัฒนาเมือง จำกัดได้จัดงานรูปแบบการจัดเวทีสาธารณะ “Lampang Forum” เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ และเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมกับการรับฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มองค์กร ชุมชน เครือข่ายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่สบตุ๋ยให้ได้มีโอกาสแสดงออกถึงศักยภาพความคิดเห็น ความต้องการในการร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาเมืองลำปางให้น่าอยู่

โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(สกสว.) ที่มีนโยบายสนับสนุนและผลักดันการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองอันเป็นภารกิจหลักของบพท.ที่ทำหน้าที่ในการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่น เมืองน่าอยู่ และกระจายศูนย์กลางความเจริญในทุกพื้นที่ของไทย

โดยบทบาทของบพท.และสกสว.จะเข้าไปร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ทั้งการพัฒนาเชิงพื้นที่ พัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่น โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้มาไปเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน

สำหรับความโดดเด่นของเมืองลำปางนั้นถือว่ามีศักยภาพในหลายด้าน ทั้งคุณค่าทางศิลปะ วัฒนธรรม แต่ยังเห็นว่ามีการพัฒนาช้ากว่าที่ควรจะเป็น สามารถยกระดับการสร้างให้เป็นจุดแข็งขึ้นมาได้เพราะเชื่อว่าโครงสร้างทางวัฒนธรรมยังมีเสน่ห์อยู่ในตัว สามารถขับเคลื่อนไปได้อีกมากมาย

โดยการขับเคลื่อนต้นทุนหลักของเมืองใดเมืองหนึ่งต้นทุนหลักจะมีอยู่ การออกแบบร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่นั้นๆเอาความรู้จากหลายภาคส่วน หลายสถาบันการศึกษามาขับเคลื่อนโดยเอาภาคประชาชนเป็นตัวตั้ง มาร่วมกันพัฒนาบนแพลตฟอร์มวิจัยพัฒนาในครั้งนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไปได้

สิ่งที่ท้าทายคือประสบการณ์ที่ผ่านมา จะต้องมองเห็นเป้าหมายสุดท้ายไปพร้อมๆกัน ให้เดินไปข้างหน้าพร้อมกันได้เปิดโอกาสพร้อมชักชวนให้ประชาชนที่มีความรู้ ความสามารถ ความตั้งใจมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่มาขับเคลื่อนร่วมกัน

สำหรับกลไกการขับเคลื่อนลำปางพัฒนาเมืองนั้นพบว่าจะมีหลายสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมกันดำเนินการ เกิดการเชื่อมโยงหลายโครงการเข้ามาร่วมกันพัฒนา เพียงแต่จะเน้นเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง โดยกรอบระยะเวลานั้นขึ้นอยู่กับภาคประชาชนจะกำหนดกันเอง

“หน้าที่ของหน่วยบริหารจัดการและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) คือสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยในรูปแบบความร่วมมือเพื่อจะเข้าไปเติมความรู้ที่หายไป และนำความรู้นั้นมาขับเคลื่อเมืองให้เดินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน ช่วงที่ผ่านมาภายใต้กรอบการวิจัยเมืองน่าอยู่ทาง บพท. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยให้บริษัทพัฒนาเมืองในหลายจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตนเองมาบ้างแล้ว ซึ่งเวทีสาธารณะในวันนี้ และเวทีอื่นๆ ทำให้ได้โจทย์วิจัยที่ดีและคาดว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองลำปางได้ในก้าวต่อไป”

โดยคณะกรรมการรุ่นแรกนี้มีภาคเอกชนคนรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ผสมผสานกันจำนวน 6-7 คน ดังนั้นในฐานะที่ตนเป็นคนลำปางอยู่ในพื้นที่มากว่า 30 ปีแล้วยังคลุกคลีในวงการรับเหมาก่อสร้างจึงมองเห็นทิศทางการพัฒนาเมืองในหลายมิติ

ด้านการพัฒนาเมืองนั้นตนได้ติดตามข่าวด้านการพัฒนาเมืองมานานแล้ว โดยเฉพาะขอนแก่นพัฒนาเมืองจึงมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ภาคธุรกิจในจังหวัดรวมตัวกันพัฒนาเมืองของตนเองพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ได้ พร้อมกับเห็นอีกหลายจังหวัดมีความตื่นตัวด้านการพัฒนาเมือง ปัจจุบันน่าจะกว่า 20 เมืองหรือ 20 จังหวัด แต่ทำไมจังหวัดลำปางถึงยังไม่มีบริษัทพัฒนาเมืองเกิดขึ้น จึงนำมาสู่การรวมตัวกันก่อตั้งบริษัท ลำปางพัฒนาเมือง จำกัด

“แต่การจะพัฒนาเมืองลำปางไปสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนที่นี่อย่างแท้จริงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วม (Collaborative) จากคนในพื้นที่ไปพร้อมกัน คงต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากภาคเอกชน ประชาชนทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองของจังหวัดลำปาง มีโอกาสพบกับรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกัน จึงเล็งเห็นว่าแต่ละเมืองล้วนมีข้อจำกัดด้านการพัฒนา สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล ซึ่งลำปางได้รับการโปรโมทว่าเป็นเมืองลำปางปลายทางฝันพร้อมกับจัดสรรงบประมาณไปให้ดำเนินการ จัดงานครั้งแล้วครั้งเล่าแล้วก็เงียบหายไปจึงไม่ต่อเนื่องด้านการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืน จึงพบว่าหลายเมืองไม่มีการขับเคลื่อน คนรุ่นใหม่ในเมืองก็ออกจากเมืองนั้นๆไปอยู่กรุงเทพฯกันมากขึ้น เมืองที่มีผู้สูงวัยอยู่อาศัยกันจึงเริ่มเห็นเกิดขึ้นหลายจังหวัดในปัจจุบัน”

โดยการรวมตัวกันครั้งนี้เป็นการผสมผสานความร่วมมือคนหลายรุ่นหลายความคิดที่มีเป้าหมายอยากเห็นการพัฒนาเมืองลำปางไปสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ไม่เงียบเหงา ทรุดโทรมไปเรื่อยๆดังที่เห็นในปัจจุบัน

“ในอนาคตมีแผนจะดึงหน่วยงานที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมสนับสนุนแต่ในเบื้องต้นนี้เริ่มต้นไม่กี่คนแต่ก็พร้อมค่อยๆขับเคลื่อนกันไป ได้ชักชวนคนที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมกันโดยเฉพาะความพร้อมทางธุรกิจ การศึกษา แนวคิดและพื้นฐานทางธุรกิจที่ดีเพื่อนำการขับเคลื่อนได้อย่างไม่สะดุด โดยได้หารือและยกตัวอย่างเมืองที่ประสบความสำเร็จทางการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองเป็นกรณีศึกษาร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเมืองไปในทิศทางที่ตรงกัน มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกันมาโดยตลอด”

ด้านน.ส.อมลยา เจนตวนิชย์ สมาชิกสภาเทศบาลนครลำปาง และกรรมการผู้จัดการบริษัท สวนอากง จำกัด หนึ่งในบริษัทนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จะเป็นคนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาร่วมกันขับเคลื่อน ประสบการณ์จากการพัฒนาโรงแรมและห้างสรรพสินค้ามาก่อนปัจจุบันหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คอมมูนิตี้มอลล์ในหลายจุดให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง

“คนรุ่นใหม่เริ่มต้นจากศูนย์แล้วค่อยๆพัฒนาหลายราย พร้อมกับเห็นว่าลำปางยังขาดปัจจัยดึงดูดผู้คนให้มาท่องเที่ยว มาลงทุนในพื้นที่ ครบครันด้านท่องเที่ยว มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ร้านอาหารและที่พักดีดีไว้รองรับ ซึ่งลำปางจะอุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัด ไม่ค่อยมีสถานที่ท่องเที่ยว ถ้ามีรูปอบบการท่องเที่ยวสมัยใหม่ก็อยู่ไกลจากตัวเมือง จึงคิดว่าลำปางสามารถพัฒนาได้อีกมากแต่คงจะขาดโอกาสหรือขาดผู้นำการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนจึงเกิดการอาสามารวมตัวกันเกิดเป็นบริษัทลำปางพัฒนาเมือง จำกัด ในวันนี้”

โดยมุมมองของนักธุรกิจต้องการให้มีผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวลำปางมากขึ้น ส่วนโซนการพัฒนาเมืองนั้นยังพบว่ามีเริ่มมาจากโซนเมืองเก่า โซนริมแม่น้ำยังมีพื้นที่เหลือรอการพัฒนา มีโซนพื้นที่สีเขียว โซนการศึกษา ส่วนย่านในเมืองจะมีความแออัด ย่านสบตุ๋ยจะเจริญด้วยธุรกิจค้าส่ง แต่ปัจจุบันซบเซาไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ มีโรงไม้ โรงสี โรงเลื่อยยังปรากฎให้เห็น ปัจจุบันเมืองขยายออกไปสู่ตามแนวถนนซุปเปอร์ไฮเวย์มากขึ้น เกิดโมเดิร์นเทรดตามมา

“ยังเชื่อว่าลำปางจะยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคเหนือต่อไปได้ ต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย เหมืองแม่เมาะยังเป็นจุดสนใจ โรงพยาบาลศูนย์ลำปางสามารถยกระดับเป็นโรงพยาบาลศูนย์ทางการแพทย์ได้อีกหลายสาขา มีบริการทั้งด้านการ บิน รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ล่าสุดยังเตรียมขยายรันเวย์สนามบินเพิ่มอีก เหลือการพัฒนาหรือต่อยอดการพัฒนาทางเศรษฐกิจเท่านั้น ดังนั้นหากภาคเอกชนในพื้นที่ไม่เริ่มต้นเองในวันนี้ ถ้าจะรอภาครัฐมาทำให้คงจะต้องเหนื่อยกันไปอีกหลายปีแน่ จึงอยากจะเห็นชาวลำปางมาร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองลำปางให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปมากกว่านี้ วันนี้เริ่มที่โซนสบตุ๋ย ย่านสถานีรถไฟลำปาง ไปสู่ถนนประสานไมตรี แล้วจึงค่อยขยับไปโซนในเมือง ตลาดที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจต่อเนื่องกันไปเพื่อช่วยกระตุ้นให้ภาวะเศรษฐกิจเมืองลำปางกลับมาคึกครื้นได้อีก”