คิกออฟโครงการตามแผน บพท.

ต่อยอดงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเมืองตามแผนงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เผยแผนปี 64 เร่งขับเคลื่อนศูนย์กลางเศรษฐกิจด้วยกลไกพัฒนาเมือง ตามแผนปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาเมืองและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาลในกลุ่มเป้าหมายกฎบัตร

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการพัฒนาข้อเสนอโครงการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจด้วยกลไกพัฒนาเมือง / บริษัทพัฒนาเมือง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการวางแผนปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาเมืองและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาลในกลุ่มเป้าหมายกฎบัตรตามกรอบข้อเสนอวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ว่า จะเป็นการต่อยอดจากผลงานวิจัยที่ผ่านมา และจะมีที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำกับเทศบาลต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนโครงการในครั้งนี้โดยเฉพาะในปี 2564 ที่จะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะการประสานงานด้านกลไกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ผ่านกฎบัตร ร่วมกับภาคเอกชน / บริษัทพัฒนาเมือง และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่


พร้อมกันนี้ยังได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนี้ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ดร.สรวิชญ์ เปรมชื่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Business Model การทำ Cluster รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค การเชื่อมโยงประสานงานในด้าน Smart City กลไกในการพัฒนาเมืองที่เชื่อมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และ นายอุดร ตันติสุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะการบริหารจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จนถึงระดับประเทศ ที่ช่วงก่อนนี้มีการเสนอกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองไว้หลายฉบับ การพัฒนากลไกท้องถิ่น ประโยชน์ควรจะตกที่ประชาชน การเห็นพ้องกับโครงการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาจังหวัด มีผู้ดำเนินการรับผิดชอบของแต่ละโครงการที่ชัดเจนจะทำให้โครงการสำเร็จได้เร็วขึ้น การเปิดโอกาสให้รัฐวิสาหกิจชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่โครงการให้มากขึ้น และจะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนในพื้นที่


โดยตามแผนการขับเคลื่อนโครงการจะพบว่าเบื้องต้นมี 4 เมืองหลักที่กำลังดำเนินการทำ Smart block เป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ นครสวรรค์ ป่าตอง อุดรธานี และระยอง กลุ่มเขตสุขภาพ เน้นที่ Health Supply Chain ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพเฉพาะ กลุ่มกำลังจะสร้างใหม่ เทศบาลที่จะดำเนินการ Charter คือ กระบี่ ขอนแก่น รังสิต หัวหิน ทุ่งสง และร้อยเอ็ด รูปแบบเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วนไม่เฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เท่านั้นยังมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาขับเคลื่อนไปพร้อมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างเทศบาลเมือง เทศบาลนคร เข้ามาร่วม


ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายสุดท้ายไว้เพื่อต้องการให้คนในเมืองมีความสุขในการใช้ชีวิตประจำวัน นั่นคือ โครงการจะต้องเป็นงานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองนั้นๆ โดย การสร้างโอกาส การนำนวัตกรรมที่เป็นกระบวนการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน สร้างศักยภาพในพื้นที่ และมีแผนการลงทุนทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ เมื่อเรามีข้อมูลในพื้นที่จะทำให้งานเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนที่ถูกต้อง การลงทุนไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว งานวิจัยทำให้เกิดทุนนวัตกรรมที่ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน

โดยเทศบาลจะต้องพัฒนาเพื่อนำไปสู่การลงทุนเพื่อนำมาสู่ “โอกาสและการสร้างศักยภาพ” โจทย์ยังไม่ยุ่งยากซับซ้อนเพียงแต่กลไกเดิมมีความล่าช้า ส่งผลให้คนรุ่นใหม่เริ่มออกมาเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ คนรุ่นเก่าจึงต้องเดินหน้าต่อไปเนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมาไม่สามารถรองรับได้ทันเวลานั่นเอง

ทั้งนี้ในภาพรวมของการเร่งขับเคลื่อนงานของหลายโครงการในปีที่ผ่านมาพบว่ามีความคืบหน้าเป็นที่พอใจ จะเป็นแนวทางให้โครงการใหม่ในปีต่อ ๆ ไปนำไปสังเคราะห์ได้มากขึ้น พบว่าคีย์ซัคเซสประกอบไปด้วย เทศบาลต้องร่วมกับ Key partner อย่างน้อย 2 ภาคีเครือข่าย คือ 1. ภาค Charter และ 2. ภาคเอกชน / บริษัทพัฒนา ปัจจุบันพบว่ามีเทศบาลหลายเมืองเข้ามาร่วมขับเคลื่อนมากขึ้น นอกจากนี้ภาคีเครือข่ายยังต้องมี ภาคประชาสังคม ภาคประชาคมเมือง โดยการสนับสนุนเชื่อมโยงกับภาควิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน


สำหรับกลไกต่อมาที่เป็นเป้าหมายอีกเช่นกัน คือหากดำเนินการแล้วต้องการให้ทางเทศบาลมีการจัดสรรงบประมาณลงทุนให้ต่อเนื่อง เพื่อให้งานจะเคลื่อนเข้าไปสู่กลไกการลงทุน ซึ่งพบว่าทางเทศบาลนครสวรรค์เตรียมการเรื่องนี้เอาไว้แล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้อีกหลายเทศบาลเข้ามาศึกษาดูงานต่อไป


โดยตามแผนงานในครั้งนี้จะคิดเอาไว้ 3 ระดับด้วยกัน ระดับแรกคือ ระดับจังหวัด เป็นการฉายภาพข้อมูลของจังหวัดให้เห็นภาพชัดเจนก่อน ต่อมาคือระดับเมือง จะนำไปสู่การสรุปข้อมูลที่ได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ระดับที่ 3 คือ เน้นไปพื้นที่ Smart block หรือย่าน โดยทำขอบเขตย่านให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไรบ้าง


นอกจากนั้นแต่ละเมืองควรจัดหาสถานที่ (City Lab) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงผลงาน เป็นที่สำหรับดูงาน คนในพื้นที่สามารถมานั่งคุยแลกเปลี่ยน เพื่อเล่าเรื่องราวของเมือง เล่าเรื่องการพัฒนาเมือง ประวัติศาสตร์ของเมือง เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ของเมือง และเข้าถึงได้ง่าย ให้เป็นจุดเชื่อมโยงการสื่อสารไปถึงชาวบ้านได้รวดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับเป้าหมายสุดท้ายคือเน้นพื้นที่ หรือย่าน ที่คนทำงาน เพื่อให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วจริง ๆ

เช็คพอยนต์ทุก 6 เดือนและ 1 ปี

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังจะมีการเช็คพอยน์ในช่วง 6 เดือนและ 1 ปี คือได้แผนบริหารจัดการชัดเจน ยกตัวอย่าง เทศบาลนครนครสวรรค์ที่ได้กลุ่ม UTE ไปลงทุนเสาสื่อสารอัจฉริยะ ดังนั้นอีกหลายเมืองจึงต้องขับเคลื่อนให้เห็นภาพชัดเจนโดยเร็วและต้องสามารถเกิดขึ้นได้จริง พร้อมกับจัดทำแผนการลงทุนนำเสนอให้ตรงตามความต้องการของพื้นที่ แผนการลงทุน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 คือ แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถเมล์โดยสารที่จะก่อให้เกิดการลงทุนตามมาได้ และ รูปแบบที่ 2 การที่เข้ามาลงทุนค้าขายในเมือง ต้องมีข้อมูลสำหรับการเข้ามาลงทุน อาทิ โรงงานผลิตลูกชิ้นปลาจะต้องไปติดต่อที่ไหน อย่างไร นั่นคือให้ประชาชนเห็นโอกาสการลงทุนเกิดขึ้นได้จริงนั่นเอง


ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2564 จะเชิญเทศบาลเมือง บริษัทพัฒนาเมืองที่มีความพร้อมร่วมหารือกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นงบประมาณของรัฐส่วนหนึ่งต้องมีไว้กระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุน เชื่อว่ารูปแบบนี้จะทำให้แต่ละเมืองอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตนี้ ดังนั้นโอกาสนี้หากลงทุนผิดพลาดก็จะเสียโอกาสทันที แต่หากลงทุนถูกต้องจะมีภาคการลงทุนที่มั่นคงเข้ามาสู่แต่ละเมืองมากขึ้น จึงเป็นการนำเสนอแผนงาน โครงการเพื่อจะถูกถ่ายทอดไปยังนักลงทุนต่าง ๆ อย่างตรงเป้าหมายก่อให้เกิดการลงทุนในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่าเมืองนั้น ๆ จะนำเสนอการลงทุนได้อย่างโดนใจอย่างไร