มช.เดินหน้าโครงการพัฒนา “เพิ่อความยั่งยืนเมืองเชียงใหม่”
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เดินหน้าโครงการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเชียงใหม่ เปิดพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย 7 พื้นที่นำร่องมหาวิทยาลัย ตอบโจทย์การพัฒนาสู่ความยั่งยืนของเมืองเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา บริเวณนิทรรศการแผนแม่บทยุทธศาสตร์พัฒนาย่านสร้างสรรค์และต่อยอด 7 พื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายในงานเทศกาลล้านนาสร้างสรรค์ ฟื้นใจ๋เวียงเชียงใหม่ ได้เปิดกิจกรรมสร้างการรับรู้แผนแม่บทยุทธศาสตร์พัฒนาย่านสร้างสรรค์และต่อยอด 7 พื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกิจกรรมเสวนา เรื่อง “พื้นที่ย่านสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมืองเชียงใหม่”
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเดิมเปิดพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์พัฒนาย่านสร้างสรรค์และนำร่อง 7 พื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างกระบวนการบริหารจัดการและพัฒนาย่านสร้างสรรค์บนพื้นฐานสินทรัพย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นระบบ
โดยผลักดันและพัฒนาให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นย่านสร้างสรรค์ และต่อยอดจนเกิดเป็น 7 พื้นที่สร้างสรรค์ที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ความยั่งยืนของเมืองเชียงใหม่ โดยมีนายพิทักษ์ ทนาบุตร หัวหน้าโครงการแผนแม่บทยุทธศาสตร์พัฒนาย่านสร้างสรรค์ฯ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ก่อนร่วมเวทีกับนางสาวจันทิรา เกื้อด้วง นักผังเมืองชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ และนายณัฐพล วรรณาภรณ์ ศิลปินงานเซรามิคที่กลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดในอำเภอสันกำแพง ด้วยการก่อตั้ง “ชามเริญ เชียงใหม่” สตูดิโอกลางสวนที่เอาใจคนรักงานศิลปะที่ต้องการอยู่กับธรรมชาติ โดยเสวนาในหัวข้อ “พื้นที่ย่านสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมืองเชียงใหม่”
นายพิทักษ์ ทนาบุตร หัวหน้าโครงการแผนแม่บทยุทธศาสตร์พัฒนาย่านสร้างสรรค์ฯ กล่าวว่า การเปิดพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการสร้างกระบวนการบริหารจัดการเพื่อกำหนดแนวทางและรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การบริการ และกิจกรรมสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงใช้ประโยชน์จากพื้นที่และย่านที่มีประสิทธิภาพสูงร่วมกันเพื่อดึงดูดเครือข่ายพันธมิตรสร้างสรรค์ทั้งจากในและต่างประเทศสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนพื้นฐานทางวัฒนธรรมล้านนาที่มีมูลค่าสูงของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
นายพิทักษ์ ทนาบุตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แผนแม่บทยุทธศาสตร์พัฒนาย่านสร้างสรรค์ฯ เป็นการพัฒนารูปแบบ บริการ และ Platform ที่สามารถบูรณาการบริการต่าง ๆ ของหน่วยงานในพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ โดยออกแบบแนวทางการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ย่านสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายของโครงการสำหรับปี 2568 โดยสร้างการรับรู้การพัฒนาย่านสร้างสรรค์ผ่าน 7 พื้นที่นำร่องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ได้แก่ ไร่ฟอร์ด หอศิลปวัฒนธรรมและนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ อาคารบริการนักศึกษา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ และสำนักหอสมุด โดยดำเนินการพื้นที่สร้างสรรค์ ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ และบริเวณพื้นที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์เป็นระยะแรก เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องสำหรับรองรับกิจกรรมสร้างสรรค์ใน 7 ธีมล้านนาสร้างสรรค์ รวมถึงเอื้อประโยชน์แก่กิจกรรมต่าง ๆ ในมิติของการใช้พื้นที่แบบ Open Space สำหรับกิจกรรมหรือบริการวิชาการต่าง ๆ หรือ การเป็นกรณีศึกษาสำหรับถอดบทเรียนในอีก 5 พื้นที่ต่อไป
นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังได้จัดนิทรรศการล้านนาสร้างสรรค์ ในชื่องาน “เทศกาลล้านนาสร้างสรรค์: Creative Lanna Festival 2024” ภายใต้ธีม “ฟื้นใจ๋เวียงเจียงใหม่” โดยเปิดประสบการณ์ การชม Night Museum เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมล้านนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ด้วยการฉายภาพ Mapping และ Installation Art ผ่านนวัตกรรมแห่งแสง สี เสียงสุดตระการตา ร่วมชมขบวนแห่จำลองพิธีบูชาเวียงเชียงใหม่ ขบวนช่างฟ้อน เครื่องสักการะ การแสดงศิลปะ และการแสดงดนตรีล้านนาอย่างยิ่งใหญ่
พร้อมกิจกรรม workshop งานหัตถกรรมล้านนาสร้างสรรค์ งานฝีมือที่เต็มไปด้วยเสน่ห์แบบดั้งเดิมผสานศิลปะร่วมสมัย ปิดท้ายด้วยนิทรรศการล้านนาสร้างสรรค์ บูธสินค้าพื้นเมือง และอาหารท้องถิ่นกว่า 60 บูธ โดยผู้สนใจสามารถร่วมชมงานได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 17.00 – 21.00 น.
สำหรับผู้สนใจต้องการใช้พื้นที่ย่านสร้างสรรค์ร่วมจัดกิจกรรม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ACCL) หมายเลขโทรศัพท์ 053- 943625-6 หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/ACCLCMU