‘การฆ่าตัวตายในตำรวจ’ ปมปัญหาฝังลึกที่รอวันแก้ไข
ตามหน้าสื่อมวลชนจะพบว่ามีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตายในหมู่ตำรวจหลายต่อหลายครั้ง ปมปัญหาต่างๆล้วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานหรือปัญหาครอบครัว ปัญหาภาระหนี้สิน หรือโรคประจำตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กลับพบว่าไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาศึกษาปมปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ล่าสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ร่วมกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่องนี้ขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและร่วมหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่วิธีปฏิบัติและนำไปใช้กับหน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะสตช.ขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
วันนี้ ผศ.พิเศษ นพ.ปราการ ถมยางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตแพทย์ของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยจะมากล่าวถึงแนวการคิดซ้ำๆ ในเรื่องที่ไม่สบายใจ เศร้าใจ ก่อให้เกิดความทุกข์ ความทุกข์ท่วมท้นที่ไม่สามารถหาทางออกได้ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร รู้สึกสิ้นหวัง ช่วยตัวเองก็ไม่ได้หันไปพึ่งใครก็ไม่ได้ รู้สึกตนเองไร้ค่า ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไรทำให้ตัดสินใจว่าไม่อยู่ในโลกนี้จะดีกว่า บางครั้งอารมณ์หุนหันพลันแล่นที่เกิดขึ้นในขณะที่เผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่พึงพอใจอย่างมากก็ทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายก็มี พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในวัย 25 ถึง 44 ปีโดยผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงขึ้น ตำรวจเป็นอาชีพที่มีความเครียดมากและอยู่กับอาวุธจึงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป
จากรายงานวิจัยของด็อกเตอร์ John M Violanti ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายของตำรวจในแต่ละรัฐไม่เท่ากันบางรัฐอยู่ที่ประมาณ 15 ต่อ 100,000 ตำรวจบางรัฐสูงถึง 35 ต่อ 100,000 ตำรวจโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 15-17 ต่อ 100,000 ตำรวจ โดยสหรัฐอเมริกามีสถิติอยู่ที่ 12 ต่อ 100,000 ประชากร การสำรวจสถานีตำรวจเกือบ 300 แห่งพบว่ามีเกือบหนึ่งร้อยสถานีที่เคยมีตำรวจฆ่าตัวตาย พบว่าตำรวจ 11% ฆ่าตัวตายในที่ทำงาน 89% ห่างจากที่ทำงาน 91% ใช้ปืนนอกนั้นใช้วิธีแขวนคอ มีด ทำให้ขาดอากาศหายใจและทานยาเกินขนาด ยังพบอีกว่า 5.5% ฆ่าตัวตายในขณะปฏิบัติหน้าที่ 79% ฆ่าตัวตายนอกเวลาทำงาน 15% เป็นผู้เกษียณอายุ หน่วยงานที่มีตำรวจน้อยกว่า 50 คนมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด ส่วนหน่วยงานที่มีตำรวจมากกว่า 500 คนขึ้นไปมีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำสุด
ในสาเหตุของการที่ตำรวจมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเนื่องจากตำรวจเป็นอาชีพที่อยู่กับความเสี่ยงตลอดเวลา ความเสี่ยงต่อการถูกฆ่า การเกิดอุบัติเหตุ เผชิญกับเหตุการณ์ที่วุ่นวายตลอดเวลาจนทำให้สภาพจิตใจแย่ลง สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ความกดดันที่สังคมมองตำรวจในภาพลบ งานวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาและอิตาลีรายงานว่าปัญหาที่ทำให้ตำรวจฆ่าตัวตายมาจากปัญหาด้านสัมพันธภาพด้านกฎหมายด้านจิตใจและการดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนเศรษฐกิจหนี้สิน หน้าที่การงาน คุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ความเครียดเรื้อรัง ภาวะหมดไฟ สิ้นหวัง ซึมเศร้า ภาวะเครียดหลังเผชิญภยันตรายร้ายแรงตลอดจนปัญหาการนอนหลับ ตำรวจส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธไม่เข้ารับการรักษากับผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากกลัวว่าจะมีการลงประวัติซึ่งกลัวว่าจะมีผลต่อการทำงาน กลัวอับอายต่อเพื่อนถ้าต้องหยุดพักรักษาตัว จึงทำให้ให้ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีและฆ่าตัวตาย
ส่วนข้อมูลของประเทศไทย สถิติตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 ถึง 2564 มีรายงานว่าตำรวจเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 443 รายจากปัญหาสุขภาพ 129 ราย ปัญหาอันอื่น 121 ราย ปัญหาครอบครัว 98 ราย ปัญหาส่วนตัว 39 ราย ปัญหาหนี้สิน 38 ราย เรื่องงาน 18 ราย เฉลี่ยปีละสามสิบราย เท่ากับ 19 ต่อ 100,000 ตำรวจ ซึ่งมากกว่าประชากรทั่วไปที่อยู่ประมาณ 7 ต่อ 100,000 ประชากร
โดยกรณีดังกล่าวแม้ว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกท่านจะให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของตำรวจ โดยให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับกำลังพลและลดอัตราความสูญเสียได้อย่างทันท่วงที ทางรพ.ตำรวจจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเฉพาะทางศูนย์สุขภาพจิต “Depress we care ซึมเศร้าเราใส่ใจ” ซึ่งสามารถโทรปรึกษาได้ 24 ชั่วโมง ที่เบอร์โทร 081-9320000 เพื่อช่วยเหลือตำรวจ อีกทั้งทางกรมสุขภาพจิตก็มีสายด่วน Hot Line 1323 ให้บริการ 24 ชั่วโมง
เช่นกัน พ.ต.อ.เพทาย ทัพมงคลและคณะได้เสนอผลงานวิจัยเรื่องการบริหารจัดการเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของข้าราชการตำรวจ ได้เสนอการช่วยเหลือตำรวจโดยให้เน้นยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและคุณธรรม เพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตาย
ในปีพ.ศ. 2566 มีการประเมินและเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตของข้าราชการตำรวจ โดยมีการอบรมความรู้ทักษะในการป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายช่วยแก้ปัญหาเรื่องเครียดซึมเศร้าหรือการทำร้ายตัวเอง มีตำรวจส่วนหนึ่งที่ไม่กล้าตอบตามความเป็นจริงเนื่องจากกลัวการถูกตีตรา กลัวไม่เป็นที่คาดหวังของสังคม กลัวถูกตำหนิ
ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยอนุมัติเงินจำนวน 7 ล้านดอลลาร์ในการป้องกันการฆ่าตัวตายในตำรวจเพื่อหวังให้ลดอัตราการฆ่าตัวตายลง พบว่าตำรวจมีอาการซึมเศร้าสูงกว่าประชาชนทั่วไปถึงห้าเท่าและหันไปใช้แอลกอฮอล์เพื่อเป็นการรักษาตัวเองแทนการเข้าพบผู้เชี่ยวชาญ โดยมีรายงานว่าผู้สูญเสียบุคคลใกล้ชิดที่เป็นตำรวจจากการฆ่าตัวตายมักจะแยกตัวออกจากกลุ่มห่างเหินจากเพื่อนๆ และครอบครัว ตั้งกลุ่ม Line ทำเหมือนกับว่าผู้นั้นยังไม่ตายจากไป บางรายก็ไม่พูดถึงผู้ตายเลย รู้สึกว่าเป็น stigma ถูกทอดทิ้ง ถูกประณามจากสังคม จึงมีการสร้างเว็บไซต์ช่วยเหลือญาติตำรวจผู้สูญเสียชื่อ bluehelp.org เช่นเดียวกับข้อมูลของไทยที่พบว่าผู้ที่สูญเสียบุคคลใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตายจะซึมเศร้า ทุกข์ใจ โทษตัวเอง มี stigma บางรายเลิกทำงานย้ายบ้านหรือฆ่าตัวตายตามก็มี ดังนั้นนอกจากการป้องกันการฆ่าตัวตายแล้วยังต้องให้การดูแลรักษาผู้สูญเสียบุคคลใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตายอีกด้วย
ทั้งนี้สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานวันผู้สูญเสียบุคคลใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตายนานาชาติครั้งที่ 4 ในวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9.00 ถึง 12.00 น. ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา อาคารราชสาทิส ชั้น 9 ห้องประชุมนายแพทย์ปรีชา ศตวรรษธำรง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โทรสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทร 081-923-0162