“ก.แรงงาน” แนะลูกจ้าง-นายจ้าง ช่วงหยุดกิจการชั่วคราวเหตุน้ำท่วม
กระทรวงแรงงานห่วงใยทั้งลูกจ้าง นายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สถานประกอบกิจการต้องหยุดการผลิตหรือการให้บริการชั่วคราว นายจ้างสามารถปฏิบัติตามมาตรา 75 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานด้วยการจ่ายเงินให้ลูกจ้างในระหว่างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และลูกจ้างสามารถไปทำงานกับนายจ้างอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติมได้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ และลูกจ้าง จนทำให้สถานประกอบกิจการบางแห่งจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว ผลกระทบดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความห่วงใย กำชับให้กระทรวงแรงงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
โดยได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบกิจการที่เกิดผลกระทบจากอุทกภัย ชี้แจง แนะนำ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งหากสถานประกอบกิจการที่เครื่องจักร อุปกรณ์ ฯลฯ ได้รับความเสียหาย ระหว่างน้ำท่วมขังหรือภายหลังน้ำลดนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดการผลิตหรือหยุดการให้บริการ นายจ้างสามารถหยุดกิจการชั่วคราวทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยจ่ายเงินให้ลูกจ้างในระหว่างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ทั้งนี้ในระหว่างที่สถานประกอบกิจการหยุดกิจการชั่วคราวลูกจ้างสามารถไปทำงานกับนายจ้างอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติมได้
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างการใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวเพราะเหตุจำเป็นซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 75 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน โดยจ่ายเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ให้กับลูกจ้างนั้น แม้นายจ้างมิได้มอบหมายงานให้ทำ และลูกจ้างยังเป็นลูกจ้างในระหว่างหยุดกิจการก็ตาม แต่มาตรา 75 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้ลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นในระหว่างหยุดกิจการ ดังนั้น ลูกจ้างจึงมีสิทธิไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติมได้
อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างมีสัญญาหรือข้อบังคับห้ามลูกจ้างมิให้ทำงานกับนายจ้างรายอื่นซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของนายจ้างในระหว่างยังเป็นลูกจ้าง สัญญาหรือข้อตกลงเช่นนี้ ยังคงบังคับได้ เมื่อลูกจ้างทำผิดสัญญาหรือข้อตกลง ลูกจ้างอาจจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการทำผิดสัญญาให้นายจ้าง แต่ถ้านายจ้างไม่มีข้อตกลงหรือสัญญาห้ามไว้แล้วลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างรายอื่นระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว แล้วนายจ้างนำเหตุดังกล่าวมาเลิกจ้าง ลูกจ้าง หรือ นายจ้างระบุในสัญญาหรือมีข้อตกลงให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เช่นนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว ไม่ถือว่าลูกจ้างทำความผิด