กทม.เร่งบูรณาการร่วม แก้ปัญหาผักตบชวารับมือน้ำท่วม
กทม. เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมและภัยธรรมชาติ เร่งบูรณาการร่วมบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
(12 ก.ย.64) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการจัดทำแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมและภัยธรรมชาติของกรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันมีสาเหตุจากน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำหนุน
โดยขีดความสามารถของระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครสามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมใน 1 วันได้ไม่เกิน 80 มิลลิเมตร หรือปริมาณความเข้มฝนไม่เกิน 58.70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หากเกินกว่าปริมาณดังกล่าวก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ตามความรุนแรงปริมาณฝนที่เกิดขึ้น
จัดเตรียมแผนเผชิญเหตุน้ำท่วม
ในกรณีดังกล่าวกรุงเทพมหานครได้มีจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่แล้วโดยมีมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ มาตรการก่อนเกิดภัย ติดตามสถานการณ์อุทกภัยเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้และเตรียมพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวหากต้องมีการอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วม มาตรการขณะเกิดภัย แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำท่วมและข้อปฏิบัติขณะเกิดเหตุให้แก่ประชาชนรับทราบและรับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อลดระดับน้ำให้สู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่เร็ว (BEST) และหน่วยบริการประชาชนเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนผู้ประสบภัย การอพยพ ช่วยอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐานและบริการด้านสาธารณสุข มาตรการฟื้นฟูบูรณะหลังเกิดเหตุ จัดตั้งหน่วยบรรเทาทุกข์เพื่อให้การช่วยเหลือบูรณะฟื้นฟูสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการบูรณาการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานครได้มีการประชุมทุกสัปดาห์ร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานต่างๆ และอีกหลายหน่วยงาน ร่วมกันติดตามวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ เพื่อเป็นข้อมูลในการสั่งการและสนับสนุนการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งบริเวณรอยต่อกรุงเทพฯและปริมณฑล กรุงเทพมหานครได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมร่วมกับจังหวัดปริมณฑลโดยรอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและเตรียมการแก้ไขพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีการดำเนินการมาต่อเนื่องทุกปี
นอกเหนือจากนี้กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับกรมชลประทาน บูรณาการการบริหารจัดการน้ำร่วมกันและได้กำหนดเกณฑ์ค่าระดับและปริมาณน้ำที่ปล่อยเข้าสู่กรุงเทพมหานคร บริเวณรอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อช่วยรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน โดยไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร และระบายน้ำออกนอกพื้นที่ไม่ให้กระทบพื้นที่รอยต่อ เช่น สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง ช่วงฤดูฝน จะเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อค่าระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.90 ม.รทก. และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อค่าระดับน้ำภายนอกสูงถึง +1.70 ม.รทก.
ด้านการเตรียมความพร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์น้ำหลากกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแผนรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ 9 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานครโดยศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง 2. เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที 3. ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนฯ 4. เมื่อมีฝนตก ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนสำนักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย “อัมรินทร์” แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” (ปภ. ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน)
5. ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ปัญหาด้านการการจราจร 6. หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ทราบ 7. ประสานงานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม / ทหาร ช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้ เป็นต้น 8. เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม 9. ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆและช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมี ผอ.เขต เป็นผู้บัญชาเหตุการณ์
เร่งกำจัดผักตบชวากีดขวางทางน้ำ
ส่วนความคืบหน้าการเร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ในส่วนที่กรุงเทพมหานครรับผิดชอบ สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำในปี 2564 ได้ดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,348 กิโลเมตร ขุดลอกคูคลอง 130 คลอง 270 กิโลเมตร เก็บขยะ ผักตบชวา เฉลี่ย 20 ตัน/วัน เปิดทางน้ำไหลและหมุนเวียนเปิดทางน้ำไหล 1,528 คลอง ความยาว 1,601 กิโลเมตร
ด้านการจัดเก็บวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักสิ่งแวดล้อม มีแผนดำเนินการจัดเก็บขยะและวัชพืชอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปี 2563 จัดเก็บได้ 3,233.51 ตัน แบ่งเป็น วัชพืช 2,651.48 ตัน ขยะบ้าน 258.68 ตัน เศษไม้ 226.35 ตัน โฟม 97.01 ตัน และปี 2564 จัดเก็บได้ 3,612.40 ตัน แบ่งเป็น วัชพืช 3,562.19 ตัน ขยะบ้าน 24.56 ตัน พลาสติก 25.65 ตัน(ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม)
โดยในวันพรุ่งนี้(13 ก.ย.64) เวลา 08.00 น. จะจัดกิจกรรม “จิตอาสา“ ร่วมแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 สวนหลวงพระราม 8 (สะพานพระราม 8) เขตบางพลัด โดยจะลงเรือจัดเก็บผักตบชวา วัชพืช และขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9
พร้อมกันนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 โดยถือปฏิบัติในปี พ.ศ. 2564 พลางก่อน จนกว่าจะมีแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฉบับใหม่ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
โดยแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการหลักซึ่งประกอบด้วย สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และหน่วยสนับสนุนประกอบด้วยสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องจัดทำแผนรองรับเพื่อเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร ระบบการปฏิบัติ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากอุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นอกจากนี้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันที ตลอดจนทำการฟื้นฟูเยียวยาสงเคราะห์ผู้ประสบภัยภายหลังจากอุทกภัยสิ้นสุดแล้ว