จุฬาฯ เร่งวิจัยคุณภาพชีวิตคนจนเมือง
ตามแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ภายใต้กรอบการวิจัย “เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ / Smart City” ปีงบประมาณ 2563 โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม ได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าระยะ 6 เดือนต่อหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนให้ครบ 12 เดือนตามระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ
ความคืบหน้าเรื่องนี้ รศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ หัวหน้าคณะวิจัยชุดโครงการ “การเพิ่มผลิตภาพและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองของกรุงเทพมหานคร” พื้นที่การศึกษาย่านพระราม 4 โดยภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงรายละเอียดในหลายประเด็นความคืบหน้าว่า โครงการดังกล่าวจัดเป็นประเภทงานวิจัย Smart Living แบ่งพื้นที่การสำรวจออกเป็น 3 พื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ย่านหัวลำโพงถึงทางด่วนคลองเตยเพื่อให้นักวิจัยได้เห็นภาพเชิงบูรณาการโดยมี 3 โครงการย่อยที่จะต้องนำมาบูรณาการร่วมกันด้วยนั้นให้เชื่อมโยงการพัฒนาจากเมืองไปสู่ชนบทได้อย่างไรให้เกิดการขับเคลื่อนภาพระดับประเทศโดยรวมได้จริง
สำหรับ 3 โครงการวิจัยย่อยนั้น ข้อแรกคือการยกระดับความสามารถการเป็นวิสาหกิจขนาดย่อมของผู้มีรายได้น้อย ต่อมาเป็นเรื่องการจัดการด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และเรื่องสุดท้ายเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะ ที่จะเป็นการดำเนินงานเชิงรุก
ปัจจุบันพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครยังพบว่ามีประชากรอพยพเข้ามาอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯและในภูมิภาคตามมาในที่สุด ซึ่งผู้อพยพเหล่านี้หรือเรียกอีกชื่อว่า “คนจนเมือง” นั้นมีความต้องการทำงานในเขตศูนย์กลางเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น รัฐจึงต้องเร่งส่งเสริมให้สามารถประกอบอาชีพให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มทำให้มีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพฯต่อไป
โดยพื้นที่ย่านเศรษฐกิจได้มีการผลักดันให้มีนวัตกรรมชุมชนเกิดขึ้นเพื่อให้สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตกับผู้มีรายได้น้อยในย่านพาณิชยกรรม ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เช่นเดียวกับการใช้พื้นที่สาธารณะให้เต็มประสิทธิภาพ
รศ.ดร.นพนันท์ยังฉายภาพให้เห็นถึงข้อมูลในมิติต่าง ๆ จากการลงสำรวจภาคสนามว่าได้จัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย แล้วประเมินผลวิเคราะห์ก่อนสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อมูลเพื่อนำไปผลักดันเป็นนโยบายสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพมหานครต่อไป
ขณะนี้ได้แนวทางนโยบายการพัฒนาศูนย์กลางความเจริญของกรุงเทพมหานครและภูมิภาคจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเชื่อมโยงความเจริญสู่ชนบท แล้วยังเห็นถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของเมืองศูนย์กลางความเจริญและแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย โดยได้มีการเตรียมเปิดรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ได้แสดงความเห็นต่าง ๆ ในเดือนเมษายนนี้อีกครั้ง
เร่งผลักดันเป็นนโยบายเสนอ กทม.
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจะจัดให้มีการประชุมครั้งใหญ่เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วปรับปรุงผลการศึกษาวิจัยก่อนผลักดันเป็นแนวนโยบายสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนผลการวิจัยสู่สาธารณะต่อไป
โดยโครงการย่อยแนวทางการส่งเสริมประสิทธิภาพวิสาหกิจให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วยการส่งเสริมพาณิชยกรรมให้มีศักยภาพ ได้มีการสำรวจข้อมูลปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อม โซนพื้นที่ตั้งแต่หัวลำโพงไปจนถึงพื้นที่บริเวณทางด่วนคลองเตย จึงมีพื้นที่ศึกษาได้หลายจุด ทั้งหัวลำโพง สีลม บ่อนไก่ และคลองเตย พร้อมสวนสาธารณะขนาดใหญ่อย่างสวนลุมพินี พร้อมมีการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจว่าระหว่างเมืองกับชนบทจะมีมากน้อยขนาดไหน ตลอดจนปัจจัยที่ทำให้วิสาหกิจขนาดย่อมมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ แนวทางกิจกรรมของผู้มีรายได้น้อยเหล่านั้น พบว่าอาชีพค้าขายประเภทหาบเร่แผงลอยยังมีความจำเป็นในพื้นที่ ผู้ค้ามีค่าใช้จ่ายเช่าสถานที่ ดังนั้นหากรัฐสามารถให้ความช่วยเหลือชดเชยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาให้ได้อย่างมาก
ปัจจุบันมีความคืบหน้าที่สามารถจำแนกประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมในพื้นที่ได้แล้ว ยังเห็นความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เห็นถึงปัจจัยการส่งเสริมให้วิสาหกิจคงอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยส่วนใหญ่จะเดินทางมาจากต่างจังหวัด และยังพบอีกว่ามีคนรุ่นใหม่สนใจประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น
ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีผู้ประกอบอาชีพลูกจ้างและประกอบอาชีพค้าขายเป็นจำนวนมาก เพศหญิงประกอบอาชีพค้าขายมากกว่าเพศชาย และมีรายได้ประมาณ 2,000-2,500 บาทต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ปัญหาที่พบคือความไม่ต่อเนื่องของการปฏิบัติเชิงนโยบายของภาครัฐเรื่องการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของการประกอบอาชีพที่ผู้มีรายได้น้อยต้องตระหนัก หลายรายต้องเลิกล้มความตั้งใจไปในที่สุด ส่วนรายที่เหลืออยู่มีความพยายามใช้สื่อทันสมัยบนโซเชียลมีเดียในการประกอบธุรกิจมากขึ้น
ดังนั้นจึงพบว่าอาชีพของผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้มีทั้งงานในระบบคือลูกจ้างงานต่าง ๆ ที่มีระบบประกันสังคมรองรับ และงานนอกระบบคือลูกจ้างรายวัน ตลอดจนหาบเร่แผงลอย อาชีพอิสระรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะงานบริการยังพบเห็นจำนวนมากในพื้นที่
สำหรับแผนดำเนินการต่อจากนี้ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อแบ่งกลุ่มพบว่าการประกอบอาชีพซึ่งพบได้ทั้งตามถนน สถานที่ต่างๆ และภายในที่อยู่อาศัย แบ่งประชากรออกเป็น 7 ประเภทในการสอบถามข้อมูลเพื่อนำออกมาวิเคราะห์ประมวลผลให้สอดคล้องกับปัจจุบันให้มากที่สุดเพื่อให้เห็นภาพชัดทางธุรกิจและความต้องการด้านที่อยู่อาศัยต่อไป
เจาะลึกข้อมูลความต้องการที่อยู่อาศัย
ส่วนในด้านการวิจัยเกี่ยวกับความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยนั้นพบว่ามีทั้งผู้ที่ย้ายถิ่นมาจากต่างจังหวัดและจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย ยังไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพที่อยู่ใกล้แหล่งงานได้ จึงมีการแสวงหาตามกำลังความสามารถและข้อจำกัดของแต่ละคน ให้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ประการหนึ่งนั้นพบว่าผู้มีรายได้น้อยมีหลากหลายกลุ่ม ต้องการที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน จะย้ายที่อยู่อาศัยไปตามสถานที่ทำงานเพื่อให้มีต้นทุนการดำรงชีวิตต่ำที่สุด จึงมีการวิจัยศึกษาทั้งด้านอุปสงค์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการอยู่อาศัยแนวโน้มและความต้องการที่อยู่อาศัยเชิงคุณภาพ และด้านอุปทานจะศึกษาเรื่องปริมาณ ราคาและรูปแบบที่อยู่อาศัยตามความต้องการของผู้มีรายได้น้อย โดยได้ข้อมูลความต้องการด้านที่อยู่อาศัย และแนวทางการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อนำไปจัดหาที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อไป
ประการสำคัญยังพบว่านโยบายด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยของรัฐบาลยังเน้นไปที่เรื่องบ้านมั่นคงและบ้านเอื้ออาทรโดยหน่วยงานการเคหะแห่งชาติยังเน้นไปที่ผู้มีรายได้ที่แน่นอนจึงเป็นหน่วยงานเหมาะสมที่จะเข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนาในเรื่องนี้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าที่อยู่อาศัยมีหลากหลาย ยังด้อยคุณภาพ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ด้านความสามารถในการจ่ายพบว่า 60% ของครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 3 หมื่นบาท ความสามารถด้านการจ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยจึงอยู่ที่ประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาท ราคาที่จัดซื้อได้จึงไม่เกิน 2 ล้านบาท
ชุดโครงการดังกล่าวตอบโจทย์ว่ากรุงเทพมหานครจะต้องมีนโยบายรองรับการอพยพย้ายถิ่นของประชากรที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งจากต่างจังหวัดและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่าไม่มีนโยบายเหล่านี้ของรัฐบาลรองรับไว้ นั่นหมายถึงว่านโยบายของการพัฒนาประเทศไม่ได้มองถึงแนวโน้มการเติบโตของเมือง ไม่มีวิธีการรองรับไม่ให้มีการอพยพย้ายถิ่น จึงได้เห็นสภาพปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นในเมือง ทั้งอาชีพ ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ พื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอ บทวิจัยดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการทบทวนนโยบายของประเทศ
มุมมองใหม่ต่อภาพของคนจนเมือง
ประการสำคัญหากมองว่าประชากรที่อพยพย้ายถิ่นได้มาสร้างแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มาสร้างภาระให้เมืองเท่านั้น นัยยะสำคัญยังมีตัวเลขบ่งชี้ว่าคนจนเมืองเหล่านั้นได้นำรายได้ส่งไปสู่ชนบท นั่นหมายถึงว่าคนจนเมืองได้มีส่วนช่วยกระจายความเจริญจากเมืองสู่ชนบท ควบคู่กับที่ภาครัฐจัดสรรงบประมาณลงไปพัฒนาพื้นที่ นั่นคือประชาชนได้มีการกระจายความเจริญในระบบกันเองตามปกติอยู่แล้ว บางทีอาจจะมากกว่าที่รัฐจ่ายงบประมาณลงไปอีกด้วยซ้ำ
ดังนั้นโครงการหลักดังกล่าวจึงสื่อให้รัฐเห็นว่าหากต้องการสร้างการเติบโตและกระจายความเจริญจะต้องมีนโยบายที่จับต้องได้กับเรื่องเหล่านี้ ส่วนโครงการย่อยนั้น จะต้องดูเรื่องการจ้างงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน ให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ไม่ถูกเอาเปรียบแรงงาน เนื่องจากพบว่ามีแรงงานนอกระบบและแรงงานไร้ฝีมือแทรกตัวอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังควรนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น
นอกจากนั้นด้วยปัจจัยที่ดินราคาแพงจึงมีผลกระทบให้คนจนเมืองต้องเลือกหาที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน หรือหากที่อยู่อาศัยอยู่ไกลก็จะมีต้นทุนการเดินทางสูงขึ้น โดยราคาค่าเช่าย่านหัวลำโพงและคลองเตยจะใกล้เคียงกัน ส่วนย่านสีลม-สาทรจะใช้แรงงานที่มีฝีมือมากขึ้นนั้นจะมีอัตราค่าเช่าที่อยู่อาศัยสูงมาก
หนุน กคช. เร่งจัดหาที่อยู่อาศัยรองรับ
ดังนั้นการเคหะแห่งชาติตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับคนจนเมืองให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้สามารถสร้างงานสร้างรายได้ มีที่อยู่อาศัยที่ดีเพื่อจะได้ทุ่มเทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองและกระจายไปสู่ชนบทได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
ประการสำคัญโซนพื้นที่แฟลตบ่อนไก่ไม่ใช่ผู้อพยพแต่เป็นผู้อยู่อาศัยเดิม มีให้พบเห็นบ้างแต่ไม่มากนัก มีการเช่าช่วง จึงไม่ได้มีการจัดการเชิงระบบที่ดีด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของคนจนเมือง พื้นที่สาธารณะจึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ซึ่งพบว่ามีจำนวนไม่เพียงพอ แม้ว่าจะมีสวนลุมพินีแต่จากข้อมูลจะพบว่าคนจนเมืองจะไม่มีเวลามากพอที่จะไปออกกำลังกายหรือพักผ่อนเพียงพอ พื้นที่สาธารณะของคนจนเมืองจึงเป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด แต่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีรายได้น้อยบางที่บางเวลาที่เหมาะสมได้
“ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักวิจัยโครงการค้นพบในเบื้องต้น อยู่ระหว่างการหาคำตอบว่าจะขับเคลื่อนใน 3 ประเด็นเพื่อจะย้อนไปหาภาพรวมที่ว่าท้ายที่สุดแล้วจะทำอย่างไรให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มอย่างไรบ้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร สร้างโอกาสที่จะกระจายเงินกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมที่มีตัวเลขชัดเจนว่ามีรายได้ก้อนใหญ่มากกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมโดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เชื่อมโยงรายได้จากกรุงเทพฯ นี่เป็นข้อมูลวิจัยที่เห็นชัดเจนจากการวิจัยโครงการดังกล่าวดังนั้นหากรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำงานวิจัยไปลงลึกในภาคปฏิบัติต่อการกำหนดแผนพัฒนาขาติให้สอดคล้องก็น่าจะเกิดประโยชน์และเห็นผลได้จริงต่อการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยในสังคมโดยเฉพาะในย่านพาณิชยกรรมใจกลางกรุงเทพฯ”