บพท.ระดมสมองสร้างโจทย์วิจัย “ด้านพัฒนาเมือง-ที่อยู่อาศัย”
บพท. ดึงผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระดมสมองสร้างโจทย์วิจัย “ด้านพัฒนาเมือง-ที่อยู่อาศัย” ร่วมนำเสนอข้อคิดเห็นพร้อมให้มุมมองต่างๆแก่นักวิจัยแต่ละโครงการเพื่อนำไปกำหนดกรอบการวิจัยและแนวพัฒนาการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จต่อไป
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่าได้จัดการประชุมระดมสมอง “การพัฒนาโจทย์วิจัยด้านการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย” วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ โดยมีหลายหน่วยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนับเป็นฟันเฟืองที่รับผิดชอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมครึ่งหนึ่งของเงินกองทุนทั้งหมด 50% ของปี 2563 นี้หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาทที่อยู่กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
สำหรับเรื่องการวางทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมได้มีการก่อตั้งองค์กรระดับนโยบาย คือ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)และสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมกับวางทิศทางนโยบายไว้ 4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม ซึ่งโปรแกรมการพัฒนาเมืองน่าอยู่ก็ได้มีการกำหนดไว้เป็นโปรแกรมที่ 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ จัดเป็นโปรแกรมสำคัญของอววน.โดยได้รับมอบจากสภานโยบายฯและสกสว. ให้ดูแลและบริหารจัดการร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA
ทั้งนี้บริษัทพัฒนาเมืองต่างๆที่เคยทำงานร่วมกันอยู่ภายใต้การนำของรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการภารกิจการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ได้รับเชิญเข้ามาเป็นวิทยากรกระบวนการเนื่องจากฐานเดิมมีการผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นจากช่วงที่ผ่านมาสามารถพัฒนาและผลักดันหลายอย่างเข้าไปในแผนแม่บทเมืองอัจฉริยะ จนสามารถใส่งบประมาณและเมืองที่รัฐบาลพร้อมขับเคลื่อนตามแผนแม่บทดังกล่าวได้ซึ่งเกิดจากการผลักดันของหลายฝ่ายนั่นเอง
โดยเป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) นำ 2 เรื่องเข้าไปขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านโดยเฉพาะที่จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก โฟกัสไปที่เรื่องคนจนและครัวเรือนที่ยากจน ระดับกลุ่มอาชีพซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของพื้นที่ และชุมชนหรือสมาร์ทคอมมูนิตี้แล้วใส่ความเป็นวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเข้าไปให้เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านให้สามารถขับเคลื่อนและยกระดับชุมชนได้ด้วยนวัตกรรม ตามแผนงานชุมชนนวัตกรรม
ในส่วนศูนย์กลางความเจริญนั้นให้ความสำคัญเรื่องสมาร์ทซิตี้ ค้นพบว่าจะอยู่ที่เมือง 40% เพราะหากเมืองหลักไม่ดึงเมืองแวดล้อมไปด้วยก็จะเติบโตไม่ได้ ขณะเดียวกันเรื่อง Smart Goverment ที่จะทำงานร่วมกับท้องถิ่นต้องการผลักดันว่าต่อนี้ไปพ.ร.บ.งบประมาณจะต้องสามารถผลักดันให้ลงไปแต่ละพื้นที่กว่า 3 แสนล้านบาทซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่าไม่มีแผนงานและโครงการปฏิบัติการดีดีไว้รองรับ จึงก่อให้เกิดความสูญเปล่าด้านงบประมาณ ทั้งการพัฒนาแผนจังหวัด การพัฒนาการจัดเก็บรายได้ระดับท้องถิ่น
ส่วนสุดท้ายคือเรื่องพื้นที่พิเศษชายแดน พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะนี้มีเรื่องระบบป้องกันสุขภาพชายแดนให้ไปดำเนินการ จุดรอยต่อชายแดนรอบเพื่อนบ้านของไทยซึ่งอยู่ระหว่างการเซตตัวของกระบวนการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
ปี 2562 ที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำสามารถผลักดันจำนวนงบประมาณเข้าไปขับเคลื่อนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดไว้เป็น OKR ในยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเมืองน่าอยู่
สำหรับโปรแกรมที่ 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญซึ่งเป็นโปรแกรมใหญ่มีการลงทุนอยู่หลายร้อยล้านต่อปี เป็นการพัฒนาเมืองศูนย์กลางความเจริญและกระจายออกไปรอบๆ ไม่ใช่เมืองที่ไปแข่งขันกับเมืองอื่นเช่นในอดีตที่ผ่านมาซึ่งพบว่าไม่ดึงเมืองรอบๆให้เกิดความเจริญตามไปด้วย
ในส่วนผลการสนับสนุนทุนปี 2563 แยกตามประเภทมหาวิทยาลัย โปรแกรมและแผนงานซึ่งใส่แผนพัฒนาพื้นที่เข้าไปใช้งบ 50 ล้านบาทเพื่อนำร่องการขับเคลื่อน สนับสนุนชุดโครงการไปรวมทั้งสิ้น 91 โครงการมีหน่วยงานได้รับการจัดสรรทุนทั้งสิ้น 49 แห่ง ภายใต้งบประมาณ 664 ล้านบาทโดยปี 2563 การพัฒนาเมืองน่าอยู่ได้สนับสนุนโครงการจำนวน 16 ชุดโครงการ 14 เมืองงบประมาณ 52 ล้านบาท สำหรับปี 2564 เร่งขับเคลื่อนแผนการพัฒนาความเจริญตามโปรแกรมที่ 15 ได้ชัดเจนแล้ว
“ในครั้งนี้เป็นการมาระดมความคิดเห็นว่าจะพัฒนาแผนอย่างไรบ้าง โจทย์หรือกรอบวิจัยที่ได้จากเวทีเสวนาในครั้งนี้จะนำไปจัดทำเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกจะไปทำประกันทุนตามที่มีวิธีให้ทุน 2 รูปแบบหลักๆทั้งการให้ทุนทั่วไป และการทาบทามนักวิจัยที่มีศักยภาพ ซึ่งจะรีวิวด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของเรื่องนั้นๆผ่านกระบวนการการจัดการคัดกรองเชิงคุณภาพต่อไป”
ด้านรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวการภารกิจการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาได้ใช้ช่วงระยะเวลาค้นหาภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมด้านการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาเมืองจนหลายเมืองสามารถก่อตั้งกิจการพัฒนาเมืองได้สำเร็จ ซึ่งพบว่าหลายเมืองสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ยังมีอีกสาวนหนึ่งพบปัญหาอุปสรรคนานัปการ ประการสำคัญหากภาคท้องถิ่นจะขับเคลื่อนต่อไปได้ภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจึงต้องมีกลไกต่างๆเข้ามาช่วยสนับสนุน
โดยบพท.วางกรอบการพัฒนาไว้หลัก ๆ คือ กรอบความร่วมมือในพื้นที่หลัก บางพื้นที่เลือกทำในรูปแบบชาร์เตอร์ ที่ปรากฎให้เห็นบ้างแล้วในบางเมืองที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนตามกระบวนการ กรอบด้านข้อมูลสาธารณะ ต้องสามารถเข้าถึงได้ ส่วนใหญ่พบว่าไม่เข้าถึงประชาชน ปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างมากในการใช้ข้อมูลไปพัฒนาส่วนอื่นๆ อีกทั้งยังพบว่าข้อมูลไปรวมอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือที่จังหวัดนั้นๆ จึงน่าจะนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการนำไปพัฒนาได้
ประการสำคัญงานวิจัยต่อไปจึงจะให้ความสำคัญกับข้อมูลสาธารณะเหล่านี้มากขึ้น นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญต่อการแชร์ข้อมูลเหล่านั้นให้สามารถถ่ายทอดไปสู่คนอื่นๆได้อย่างเข้าใจง่าย กรอบที่ 3 ข้อมูลที่อยู่อาศัย ข้อเท็จจริงน่าจะสามารถนำมาจากหลายพื้นที่ได้ แต่จากการลงพื้นที่วิจัยพบว่าคีย์ซัคเซสมีจำนวนมาก ทั้งของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) หรือการเคหะแห่งชาติ จึงไม่น่าจะทำวิจัยใหม่ เพียงแต่การศึกษาด้านพื้นที่อาจจะขาดข้อมูลบางเรื่องอยู่บ้าง
สำหรับเรื่อง Urban and Housing ซึ่งจะเกี่ยวกับเรื่องการจัดการงบประมาณในแต่ละพื้นที่ การบริหารจัดการ ณ จุดนี้ถือว่าเป็นคอขวดที่เมื่อลงภาคปฏิบัติแล้วไม่เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ กลายเป็นจุดบอดในหลายอย่าง ซึ่งกรอบการศึกษาเชิงนโยบายจะกำหนดอยู่ในกรอบนี้ด้วยเช่นกัน
ปัญหาที่พบในมหาวิทยาลัยคือการวิจัยตามกระแส ส่วนปัญหาจริงๆยังไม่ได้รับการศึกษาวิจัย ต้องสร้างกิจกรรมที่เป็นพลังให้เดินหน้าต่อไปได้ ให้เกิดการรวมพลังกันขับเคลื่อน ยกตัวอย่างจังหวัดขอนแก่นที่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนด่านการพัฒนาเมืองจนทำให้อีกหลายจังหวัดมีความพยายามทำตาม ประการสำคัญมีข้อมูลบางส่วนรองรับไว้แล้วทำอย่างไรจะนำไปเผยแพร่ให้ใช้ประโยชน์ต่องานวิจัยได้อย่างไร
ปัจจุบันพบว่ากลไกเอกชนบางกลุ่มสามารถต่อยอดเป็นการลงทุนรูปแบบคราวน์ฟันดิ้งได้แล้ว จึงเน้นไปที่ประชาชน ไม่ใช่นักวิจัย คีย์ซัคเซสคงอยู่ที่ว่าจะร่วมกับเอกชนได้อย่างไรให้สามารถขับเคลื่อนโครงการต่อไปได้ อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาคอขวดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลด้านการลงทุนสาธารณะที่ยังมองว่าเป็นหลุมดำในปัจจุบัน
ส่วนอีกเรื่องที่อยากให้มองไว้ด้วยคือเรื่องการสร้างงานที่จะมีผลต่อการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่เช่นเดียวกับฐานของท้องถิ่นนั้นๆที่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ ซึ่งการวิจัยด้านเวลเนสและสุขภาพยังตรวจสอบว่าเป็นตามกระแสหรือไม่แต่ละท้องถิ่นจะมีอำนาจในการนำเสนอหรือชงเรื่องเข้าสู่การพิจารณา วิจัยไปแล้วต้องสามารถลงทุนได้จริง หากจะสามารถปรับลดรายรับต่อครัวเรือนลงไปได้จะต้องพิจารณาด้านใดบ้างโดยเฉพาะรายจ่ายที่สูงเกินไป
เป้าหมายคือผู้ที่เป็นกุญแจสำคัญ เอกชนในเมือง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในเมือง ที่มีศักยภาพในการลงทุน ต่อมาคือ Urban Housing ในลักษณะต่างๆ เช่นเดียวกับเรื่องอัตลักษณ์ เนื่องจากเรื่องเศรษฐกิจสิ่งที่ขาดไปคือคนบริหารจัดการอีเว้นต์ในเมือง ขอบข่ายจึงกว้างและมีหลายมิติที่อยากให้ผู้ทรงคุณวุฒิให้มุมมองต่างๆแก่นักวิจัยในแต่ละโครงการ
นอกจากนั้นเรื่องท้องถิ่นศึกษาที่มีการทำกันมานานคือเรื่อง Housing Profile ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันความรู้ชุดนี้หายไปเป็นจำนวนมาก จึงอยากสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้นมาขับเคลื่อน เช่นเดียวกับกลุ่มนักวิจัยท้องถิ่นที่มีอยู่จำนวนมากนั้นจะต้องยกระดับขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ทำอยู่เฉพาะสิ่งเดิมๆ และอยากเห็นงานวิจัยกลับไปสร้างคนรุ่นใหม่มากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่พบคือภาคเอกชน จะพบว่าตลอดช่วงที่เข้าสู่วงการพัฒนาเมืองมีเอกชนสนใจจำนวนมาก ซึ่งบทบาทในปัจจุบันกระทรวงอว.เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนมากขึ้น ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือนักวิจัยที่อยู่ในภาครัฐนั่นเอง จะต้องดึงคนภาครัฐออกมาเป็นนักวิจัยให้มากขึ้นให้สามารถทำงานด้วยกันได้ ธงที่กำหนดขึ้นคือจะสร้างนักวิจัยคนรุ่นใหม่ได้อย่างไรที่เรียงร้อยงานวิจัยออกมาเชื่อมเข้าสู่ภาคปฏิบัติได้จริง