"MQDC" เร่งต่อยอดพันธกิจ For All Well-Being
MQDC ผนึกพันธมิตร ต่อยอดพร้อมตอกย้ำพันธกิจ For All Well-Being ยกระดับมาตรฐานการอยู่อาศัย เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน ตอบรับวิถีใหม่แห่งอนาคต
แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น หรือ MQDC ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ในเครือ MQDC จัดเสวนาระดมสมองร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ในหัวข้อ “MQDC Mental Health Forum 2020” เพื่อนำเสนอแนวทางป้องกัน บรรเทาปัญหาด้านสุขภาพจิตให้กับผู้ที่สนใจ รวมทั้งแบ่งปันองค์ความรู้สู่สาธารณะ เพื่อสานต่อพันธกิจ For All Well-Being มุ่งสร้างความสุขให้ทุกชีวิตอย่างยั่งยืน
นายคีรินทร์ ชูธรรมสถิตย์ ประธานผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบริการ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า
จากสภาพปัญหาสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทำให้ทุกคนต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านของชีวิต ในส่วนของ MQDC ได้เล็งเห็นถึงสภาพปัญหาและได้นำมาต่อยอด โดยเราจะมีบริการที่เรียกว่า “MQDC Mental Health Service” มอบให้กับลูกบ้านทุกโครงการ
“เป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการของโครงการภายใต้ MQDC ที่เราอยากแบ่งปันว่า MQDC นั้นเป็นแบรนด์ที่เติมเต็มคุณภาพในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีคุณค่ามากกว่าคำว่า “ที่อยู่อาศัย””
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) สรุปว่า การสร้างสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี ประกอบไปด้วย 7 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. การสร้างสภาวะน่าสบายด้วยระบบธรรมชาติ (passive) และเครื่องกล (active) อย่างสมดุล 2.การลดมลพิษทางอากาศ การระบายอากาศที่ดี และสร้างอากาศบริสุทธิ์ 3. การออกแบบพื้นที่ที่มีแสงธรรมชาติ และแสงประดิษฐ์อย่างเพียงพอต่อทุกกิจกรรมในการใช้ชีวิต
4. การออกแบบพื้นที่โดยคำนึงถึงคุณภาพของเสียงที่เหมาะสม และลดเสียงรบกวนจากภายนอก 5.การเลือกวัสดุที่ดีต่อสุขภาพ และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับทุกคน 6. การสร้างพื้นทีสีเขียวเพื่อสร้างความเชื่อมโยงของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างลงตัว และ 7. การออกแบบพื้นที่สำหรับกิจกรรมหลากหลาย เพื่อการพักผ่อนและส่งเสริมสุขภาพจิต การรับประกันและดูแลโครงการ 30 ปี เพื่อการอยู่อาศัยอย่างไร้ความกังวล
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพจิต ได้ร่วมกันสรุปประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจสำหรับคนทุกวัยได้นำไปใช้ดูแลตนเองและครอบครัว เริ่มจาก ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทคนิคการดูแลสุขภาพจิตเด็ก วัยรุ่น และครอบครัวนั้นต้องเข้าใจถึงลักษณะครอบครัวในยุคปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งขนาด หน้าที่ วิถีชีวิต รวมถึงช่องว่างระหว่างวัย เด็กๆ ในยุคนี้ก็มีจุดแข็ง โอกาส และความแตกต่างกันกับเด็กในอดีต แต่ก็ยังมีความคล้ายกันในหลายมิติ
ปัญหาด้านสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในช่วงนี้ ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาการใช้สื่อจอ ปัญหาการเรียน และการมีแรงผลักดัน (passion) ของตนเอง ซึ่งทัศนคติและทักษะการดูแลลูกที่สำคัญที่พ่อแม่ยุคใหม่ควรต้องมีให้มากขึ้น คือการรับฟัง การเข้าอกเข้าใจลูก การปรับลดความคาดหวัง และการให้แรงเสริมทางบวกในการเลี้ยงดูลูกแทนการลงโทษ
ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำงานในปัจจุบันที่มีความกดดันแข่งขันในงาน รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทำให้คนเชื่อมต่อกับงานได้ตลอดเวลาทำให้คนเกิดความเครียดได้ ซึ่งความเครียดในการทำงานมีทั้งความเครียดที่ดีและความเครียดที่เป็นอุปสรรค เมื่อความเครียดถูกสะสมไปเรื่อย ๆ และไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดภาวะหมดไฟในคนทำงานได้วิธีกระตุ้นพลังในการทำงานที่สำคัญ คือ การพักฟื้นทางความคิดจากงาน หรือการ ‘ปิดสวิตซ์จากงาน’ ส่วนวิธีการจัดการปัญหา ควรใช้การเผชิญกับปัญหาแบบมุ่งเน้นไปยังปัญหา มากกว่าการมุ่งเน้นไปยังอารมณ์ และมุ่งเน้นไปยังการได้รับการสนับสนุนทางสังคม จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะหมดไฟได้
นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง จิตแพทย์ และอาจารย์ประจำ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพจิตสำหรับผู้สูงอายุ คือ การทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าของตัวเอง มีความตั้งใจในการใช้ชีวิตที่เหลือในช่วงบั้นปลายอย่างมีความหมาย ซึ่งการมีสุขภาพจิตดี มีองค์ประกอบสำคัญหลายส่วน ได้แก่ การดูแลความต้องการพื้นฐาน สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพความสัมพันธ์ และสุขภาพทางจิตวิญญาณ โดยผู้ดูแลจะต้องทำความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำสิ่งที่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ด้วยการรับฟัง เปิดใจ และจัดหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้ทำมากขึ้น
นางสาววิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต FutureTales Lab โดยบริษัท MQDC กล่าวถึงอนาคตของการดูแลสุขภาพจิตในประเทศไทยว่า จะดีขึ้นหรือแย่ลง มีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญหลายตัว จากการวิเคราะห์ด้วยมิติ STEEPV พบปัจจัยที่สำคัญในมิติต่างๆ ดังนี้ ทางสังคม ได้แก่ สภาพสังคม การมีความสัมพันธ์ในครอบครัว การมีผู้สนับสนุนทางสังคม ทางเทคโนโลยี ได้แก่ นวัตกรรมทางการแพทย์ ทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สภาพของที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน โรงเรียน รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในเมือง ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การมีรายได้และการมีงานทำ ทางการเมืองการปกครอง ได้แก่ นโยบายการดูแลสุขภาพจิต และทางค่านิยม ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของผู้คนในสังคม ซึ่งจากปัจจัยทุกมิติดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรให้การส่งเสริมเพื่อพัฒนาภาพอนาคตไปในทางที่ดี เพราะเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย สุขภาวะที่ดีของประชาชนจะส่งผลต่อภาพรวมในอนาคตของสังคมและประเทศเช่นกัน
นายกฤษฐ์สยุทธ ชววิทยาธรรม ผู้อำนวยการ บริษัท MQDC กล่าวเสริมว่า MQDC มุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมผู้อยู่อาศัยที่มีความสุขมาอย่างต่อเนื่อง เราให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพกายเทียบเท่าสุขภาพจิตที่ดีมาโดยตลอด หลังช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราเน้นการดูแลลูกบ้านใน 3 ด้าน ได้แก่ สุขอนามัยและความปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 (Safety) สุขภาพและภูมิคุ้มกันที่ดีต่อร่างกาย (Healthy) และส่งเสริมสังคมแห่งการแบ่งปันและการเรียนรู้ของผู้พักอาศัย (Community) แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยบรรเทาลงและอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง
สิ่งหนึ่งที่เราเล็งเห็นคือผลกระทบทางด้านจิตใจในความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลง ทั้งสภาพเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตในสังคมแบบวิถีใหม่ รวมถึงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ทางเราจึงได้เตรียมเสนอสิทธิพิเศษด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้ลูกบ้านเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพจิตผ่านแอพพลิเคชั่นและแพ็กเกจพิเศษจากโรงพยาบาลชั้นนำได้อย่างสะดวกมากขึ้น