นำ 8 ตลาด “ลด- แลก-แจก-แถม” จัดมหกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจทั่ว กทม.
กทม. จัดมหกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 เดือน ชวนชาวกรุงใส่เกียร์ชอปสินค้าราคาถูก ลดรายจ่าย ฝึกอาชีพ เพิ่มรายได้ นำ 8 ตลาดกทม.หั่นราคาเช่าแผงค้า 50% พร้อมโปรพิเศษ…ลด แลก แจก แถม ส่วนโรงรับจำนำขานรับลดดอกเบี้ยต่ำ 0.05% นำร่องงานแรก 20 -22 ส.ค.ณ บริเวณโดยรอบไปรสนียาคาร ย่านปากคลองตลาด
วันนี้ (17 สิงหาคม 2567) ณ ลานกิจกรรมตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2) เขตทวีวัฒนา นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าว “กทม. กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน” โดยมีผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวถึงการดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงระยะ 4 เดือน ตามโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคมร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต จัดงานกระตุ้นเศรษฐกิจ จำหน่ายสินค้า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2567 พร้อมเชื่อมย่านสร้างสรรค์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วกรุงเทพมหานคร โดยการจัดงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. สำนักงานเขตทุกเขตเปิดพื้นที่ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็ก และผู้ประกอบการชุมชน จำหน่ายสินค้าภายในสำนักงานเขตเพื่อเพิ่มช่องการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการเกิดรายได้ และประชาชนได้ลดรายจ่ายในการซื้อสินค้าราคาถูก
2. สำนักพัฒนาสังคมร่วมกับ 6 กลุ่มเขต กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการภาคีเครือข่าย จัดงานจำหน่ายสินค้า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กลุ่มเขตละ 2 ครั้งต่อเดือน จำนวน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2567
“กทม.มีนโยบายหารายได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเช่น จากนักท่องเที่ยว เป็นต้น เปิดพื้นที่ค้าขายในโซนที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวต่างๆ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ประการสำคัญเศรษฐกิจนับเป็นปัญหาของเมืองต่างๆ รัฐบาลมีหลากหลายนโยบายดำเนินการต่อเนื่อง อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นต้น ซึ่งกรุงเทพมหานครตระหนักและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งช่วง 20 สิงหาคม-ตุลาคมนี้ยังไม่มีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลไปถึงพี่น้องประชาชน ผู้ว่าราชการกทม.จึงเร่งขับเคลื่อนนโยบาย 3 มิติ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างอาชีพให้พี่น้องประชาชน แม้ว่าช่วงนี้ภาครัฐจะไม่ใช่ผู้ขับเคลื่อนหลัก แต่จะให้พื้นที่มากกว่า เช่นเดียวกับการมีโรงรับจำนำให้ไปเป็นทุนหมุนเวียน มีตลาดจำนวน 12 แห่งสามารถเปิดพื้นที่ให้ผู้ค้ามากขึ้นได้ด้วย มีผู้ค้ารายย่อยกว่า 1 หมื่นรายมีพื้นที่ผ่อนผันค้าขายที่สามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลได้จึงบูรณาการหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนสนองนโยบายของผู้ว่าราชการกทม. เกิดขึ้นในวันนี้”
นายศรชัย โตวานิชกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ BMA Market Grand Sale พร้อมแคมเปญ “ลด แลก แจก แถม” คือ “ลด” หมายถึง ลดค่าเช่าแผงค้าให้กับผู้ค้าที่มีสัญญา 50% จำนวน 4 เดือน ตั้งแต่เดือน 1 ก.ย.67 – 31 ธ.ค.67 จะมีรายได้ไม่ต้องมาจ่ายให้กทม.ราว 50 ล้านบาทเกิดขึ้น “แลก” หมายถึง ผู้ค้าจะมีบัตรสะสมแต้มเพื่อมาแลกของพรีเมี่ยมที่ทำการตลาด “แจก” หมายถึง ผู้ซื้อได้รับคูปองจากสำนักงานตลาดเพื่อลุ้นโชค ณ ตลาดที่เข้าร่วมแคมเปญ และลุ้นรับรางวัลใหญ่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ณ ตลาดนัดจตุจักร “แถม” หมายถึง ผู้ซื้อที่ซื้อสินค้าในตลาดครบ 500 บาทกับแผงค้าที่ร่วมแคมเปญ สามารถรับของแถมที่ตลาดจัดไว้ พร้อมกับจัดกิจกรรมอีกมากมาย ณ 8 ตลาดของกรุงเทพมหานคร คือ ตลาดนัดจตุจักร ตลาดนัดมีนบุรี ตลาดธนบุรี ตลาดประชานิเวศน์1 ตลาดเทวราช ตลาดหนองจอก ตลาดบางกะปิ ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก
นายชนาธิป ล.วีระพรรค ผู้อำนวยการสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร จัด “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือประชาชน” โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยรับจำนำเหลือเพียงร้อยละ 0.05 บาทต่อเดือน (เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท) โดยจำกัดวงเงินรับจำนำไม่เกิน 100,000 บาทต่อ 1 ราย บุคคลและต่อสถานธนานุบาล 1 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร เตรียมจัดกิจกรรม Kick Off โครงการ “กทม. กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน” ในวันที่ 20 -22 สิงหาคม 2567 ณ บริเวณโดยรอบไปรสนียาคาร ย่านปากคลองตลาด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และบริเวณวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เชื่อมไปย่านกุฎีจีน โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 1.การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร สินค้าชุมชน ของดีเขต อาหารอร่อยในพื้นที่ 2.สินค้าเกษตร FARMER MARKET / แจกเมล็ดพันธุ์/ การปลูกผักในเมือง 3.สินค้าราคาถูกจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และสินค้าจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการโรงงาน 4.ฝึกอาชีพ กิจกรรม Workshop สร้างรายได้ 5.การออกบูธหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น สำนักงานสถานธนานุบาล สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เป็นต้น และ 6.การแสดงบนเวที เด็ก เยาวชน วงดนตรี จากนั้นจะหมุนเวียนจัดงานกระตุ้นเศรษฐกิจฯ ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ครบทั้ง 6 กลุ่มเขตต่อไป