ส.อ.ท. ปัดฝุ่น ”เมดอินไทยแลนด์:MiT ” หนุนใช้สินค้าที่ผลิตในไทย
ส.อ.ท. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ผนึก 4 หน่วยงานหนุนการใช้สินค้าที่ผลิตในไทย (MiT) ในภาคธุรกิจ เผยปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียน MiT แล้วกว่า 5,000 กิจการ มีจำนวนสินค้ามากกว่า 50,000 รายการ ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัด “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ” ผนึก 4 หน่วยงาน ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) ในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีการจัด “พิธีมอบโล่หน่วยงานภาครัฐต้นแบบที่มีการจัดซื้อสินค้า MiT สูงสุด” ประจำปี 2565
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการ Made in Thailand เป็นสิ่งที่ ส.อ.ท. ผลักดันมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา เรามุ่งหวังว่าการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยจะเป็นการผลักดันการผลิตของไทยให้มีความเข็มแข็ง ประดารสำคัญผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล – ฮามาส ที่เกิดขึ้นยังทำให้โลกกำลังเสี่ยงกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการพึ่งพาตลาดนำเข้า-ส่งออกมากจนเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยได้
ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง จึงมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้เพิ่มการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand) ตามนโยบาย ONE FTI ของ ส.อ.ท.”
นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. และกรมบัญชีกลางร่วมกันผลักดันผ่านกฎกระทรวง และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐซื้อสินค้าไทย ปัจจุบันโครงการ MiT มีผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 5,000 กิจการ มีจำนวนสินค้ามากกว่า 50,000 รายการ ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขึ้นทะเบียนรับรอง MiT สูงสุด 5 ลำดับแรกคือ อุปกรณ์งานก่อสร้าง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ และเครื่องปรับอากาศ และอื่นๆ ได้แก่ สินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
อีกทั้งจากรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 มีบริษัทที่ขอรับรอง MiT ได้รับงานทั้งจัดซื้อและจัดจ้างกว่า 1,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าเงินที่ใช้ทำสัญญา 102,000,000,000 บาท (หนึ่งแสนสองพันล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนการใช้สินค้า MiT 15% ของงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งผลให้เกิดการกระจายเม็ดเงินสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับ SMEs ถึงรากหญ้าต่อไป และช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากภาครัฐสู่ผู้ประกอบการ
สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ 4 หน่วยงานหลักสำคัญ ประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในวันนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อให้โครงการ Made in Thailand (MiT) ได้ดำเนินงานไปอย่างยั่งยืน และความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้สินค้า MiT ในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น
“ภายในงานยังมีการมอบโล่ขอบคุณ 10 หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กรมชลประทาน ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ,การไฟฟ้านครหลวง ,การประปานครหลวง ,กองทัพบก ,กรมทางหลวง ,โรงพยาบาสระบุรี , กรุงเทพมหานคร , สำนักงานศาลยุติธรรม และการประปาส่วนภูมิภาค ที่เป็นต้นแบบนำร่องการจัดซื้อด้วยวิธี e-bidding เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองสินค้า MiT ได้รับสิทธิประโยชน์ในการแข่งขันราคาเพิ่มขึ้น 5% อย่างแท้จริง อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสและเพิ่มสัดส่วนให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนสินค้า MiT มากขึ้นต่อไป”