AMR เร่งสปีด 3 กลุ่มธุรกิจใหม่ หนุนรายได้โตต่อเนื่อง
AMR เดินหน้าเร่งสปีด 3 กลุ่มธุรกิจหลักต่อเนื่องครึ่งปีหลัง 66 ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10-20% เผยมี Backlog รอรับรู้รายได้แล้วกว่า 2,300 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า : EV Charger ไตรมาส 3 นี้พร้อมมองข้ามช็อตเทคโนโลยี AIoT และเฮ้ลท์แคร์เชิงรุก เพื่อสร้างแหล่งรายได้แบบ recurring income เพิ่มกระแสเงินสดที่มั่นคงสม่ำเสมอ
ทั้งนี้นายณัฎฐชัย ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ www.ucdnews.com ว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของAMR ในปี 2566 มีเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10-20% หรือระดับ 1,500-1,600 ล้านบาท โดยมีความพร้อมเชิงรุกของกลุ่มธุรกิจหลักครึ่งปีหลัง 2566 นี้ที่เน้นการรักษาฐานรายได้จากธุรกิจปัจจุบันควบคู่ไปกับการรุกขยายธุรกิจใหม่ที่จะเป็น New S-Curve ของบริษัท
โดย AMR แบ่งธุรกิจใหม่ออกเป็น 3 ส่วนงานธุรกิจ คือ 1. กลุ่มงานอัจฉริยะด้านไอซีทีและหุ่นยนต์ หรือ AIoT and Robotic Solution 2. กลุ่มงานธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น ระบบโซลาร์เซลล์พร้อมระบบสำรองไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ และ 3. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับกรีนซิตี้และโครงสร้างพื้นฐาน โดยขณะนี้ AMR มีปริมาณงานในมือ (Backlog) รอรับรู้รายได้อยู่ราว 2,300 ล้านบาท และจะเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจ Renewable Energy ประกอบด้วยธุรกิจการลงทุนในพลังงานทดแทน ทั้งแบบพลังงานแสงอาทิตย์จากหลังคาด้วยแผงโซลาร์เซลล์ โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าภาคเอกชนเป็นหลัก อาทิ สถานศึกษาและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการขยายธุรกิจไปสู่การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำ หรือ Solar Floating ในอนาคต ปัจจุบัน AMR มีข้อตกลงการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์หรือ PPA อยู่ราว 169 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้เป็นต้นไป
มีความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนรุกธุรกิจใหม่อย่างไร
ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Green Transportation ภายใต้แนวคิดรักษ์โลก มุ่งให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานสะอาดซึ่งบริษัทมีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แพลตฟอร์ม MaCharge ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มาพร้อมกับสถานีสลับแบตเตอรี่และแอปพลิเคชัน โดยล่าสุด AMR ได้จับมือกับบริษัทในเครือ บมจ.ซัสโก้ (SUSCO) ร่วมทุนจัดตั้งบริษัทในธุรกิจให้บริการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในพื้นเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฏาคมนี้ อีกทั้งในไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีผลิตภัณฑ์ EV Charger ออกสู่ตลาดที่จะช่วยตอบโจทย์เรื่องการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย สะดวก ใช้งานง่าย มาพร้อมกับแอปพลิเคชันสำหรับการใช้งาน
ล่าสุดยังจัดตั้งบริษัท ยู เอเลเม้นท์ จำกัด (UE) เพื่อจัดจำหน่ายน้ำดิบให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเขต EEC คาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จไตรมาส 3 นี้พร้อมรับรู้รายได้จากการจำหน่ายน้ำได้ทันที โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ปีละ 100 ล้านบาท
ครึ่งปีหลังเน้นเจาะลูกค้ากลุ่มใดบ้าง
นายณัฎฐชัย กล่าวอีกว่า แนวทางความร่วมมือพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อต่อยอดเชิงรุกธุรกิจ AIoT นั้น AMR เดินหน้าแสวงหาโอกาสควบคู่ไปกับการสร้างพันธมิตรและคู่ค้า เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยมีความร่วมมือกับพันธมิตรไปแล้ว 2 ราย และปีนี้คาดว่าจะมีเพิ่มตามมาอีก สำหรับธุรกิจ AIoT AMR มีธุรกิจ BMS หรือระบบบริหารจัดการอาคาร รวมไปถึง Smart Factory และบริหารจัดการแวร์เฮ้าส์ โดยใช้ระบบออโตเมชั่นซึ่งเป็นการต่อยอดจาก Smart IoT ที่ AMR มีความรู้ความเข้าใจจากการที่เคยดำเนินการร่วมกับทางโครงการเดโป้ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาก่อน
ส่วนช่วงครึ่งปีหลัง 2566 นั้น AMR ได้มองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักที่เน้นการเพิ่มลูกค้าภาคเอกชนให้มากขึ้น นอกจากนี้สินค้าและบริการของธุรกิจใหม่นั้นเป็นธุรกิจที่จะเข้าสู่การให้บริการแก่ลูกค้าโดยตรง (End user) หรือ B2C มากขึ้น เริ่มต้นจาก แพลตฟอร์ม MaCharge ที่จะเริ่มให้บริการ ณ เกาะสมุยเป็นแห่งแรก ก่อนจะขยายไปสู่พื้นที่ศักยภาพต่อเนื่องกันไป และผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง Macharge สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) จะเริ่มเปิดตัวไตรมาส 3 นี้โดยธุรกิจใหม่จะขยายขอบเขตบริการสู่ทุกพื้นที่ในอนาคตต่อไป
มองข้ามช็อตธุรกิจใหม่ไว้อย่างไรบ้าง
ประการสำคัญ AMR ยังมองข้ามช็อตต่อยอดในการรุกธุรกิจใหม่อีกว่าแนวโน้มจากปัจจุบันสังคมจะให้ความสำคัญที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศไทยมีแนวโน้มด้าน Technology Adoption และ digital Transformation มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะมุ่งเน้นเรื่องของ Internet of Things : IoT และ Healthcare Technology ควบคู่ไปกับการพัฒนา Cybersecurity ซึ่งการเปลี่ยนผ่านและการพัฒนานี้เป็นสิ่งที่ AMR มีความเชี่ยวชาญเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และจะนำมาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง
“AMR มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดรักษ์โลก โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก้าวสู่ New Business การลงทุนธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความหลากหลาย โดยมุ่งเน้น 3 ธุรกิจหลัก คือ AIoT Autonomous & Robotics, Renewable Energy และ Utility & Infrastructure ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีแหล่งรายได้แบบ recurring income เพิ่มขึ้นสามารถสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง และสม่ำเสมอ”