เทศบาลเมืองพะเยาพร้อมต่อยอดโครงการ “พะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ Learning City”
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองพะเยา พร้อมต่อยอดโครงการ ‘พะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ : Phayao Learning City’ หลังบพท.และม.พะเยาพร้อมส่งไม้ต่อให้ได้ต่อยอดองค์ความรู้ และแนวทางบริหารจัดการ ย้ำ!!!เน้นความยั่งยืน พร้อมรุกเรื่องการตลาดและทุนสนับสนุนผู้ประกอบการ
นางสุมิตรา กันทะมิตร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา เปิดเผยว่า จากการร่วมหารือกับรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.), รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา และหัวหน้าโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Phayao Learning City), ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา หัวหน้าโครงการ สำนักงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.ดร.พงษ์เทพ สันติกุล นักวิจัยโครงการ สกสว. พร้อมคณะทำงานลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้การดำเนินโครงการภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) จังหวัดพะเยา โครงการติดตามผลสัมฤทธิ์ของตัวชี้วัดสำคัญตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) พ.ศ. 2563-2565 กลุ่มที่ 5 (โปรแกรม 13-15) ด้านการพัฒนาพื้นที่ ร่วมกับกลุ่มชุมชนในการขับเคลื่อนพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ความชัดเจนว่า เทศบาลเมืองพะเยาพร้อมขับเคลื่อนโครงการต่อเนื่องให้เกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างยั่งยืนได้เลยทันทีเนื่องจากเห็นว่าทางเทศบาลมีความพร้อมในเรื่องสถานที่และบุคลากร
ทั้งนี้เทศบาลเมืองพะเยานั้นถือว่าเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่รับโครงการมาดำเนินการให้กับจังหวัดพะเยา อีกทั้งยังเป็นนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ผลักดันในเรื่องนี้ Phayao Learning City ถือว่ามีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที อีกทั้งขณะนี้พื้นที่ TK Park ก็สามารถขับเคลื่อนได้แล้ว ล่าสุดยังได้มีการลงนาม MOU ไปเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาเทศบาลเมืองพะเยาเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป
ปัจจุบันเทศบาลดำเนินการในหลายมิติ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการท่องเที่ยว หรือพะเยาสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น ประกอบกับพื้นที่เทศบาลเมืองพะเยาติดกับชายกว๊านพะเยาจึงต้องเร่งส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวให้สามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ให้มีสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้นรอบๆ ชายกว๊าน
ด้านปัญหาการบริหารจัดการขยะได้รณรงค์ส่งเสริมตั้งแต่ภาคครัวเรือน ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน คัดแยะขยะเปียกเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก หรือฝังกลบ หากเป็นขยะพลาสติกหรือขวดแก้วก็แยกมาจำหน่ายผ่านธนาคารขยะประจำหมู่บ้านต่อไป ปัจจุบันยังมีการจัดทำหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสนองนโยบายของนายกเทศมนตรีนำไปพัฒนาในการยกระดับเรื่องสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันกองการศึกษา กองการสาธารณสุข กองสิ่งแวดล้อม กองสวัสดิการสังคมของเทศบาลเมืองพะเยายังมีนโยบายรับดำเนินการโครงการเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองพะเยาให้ต่อเนื่องหากทางบพท.ไม่มีงบสนับสนุนโครงการ โดยจะมีอีกหลายภาคส่วนในเทศบาลเมืองเข้ามาร่วมเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะนี้จะพบว่าโครงการ Phayao Learning City จะสามารถเชื่อมกับโครงการพะเยาสมาร์ทซิตี้ได้เลยทันที จึงไม่น่าเป็นห่วงเพราะทุกภาคส่วนให้ความสำคัญต่อโครงการ โดยเฉพาะระดับชุมชนต่างๆ ก็มีความพร้อมที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการได้ทันที ดังนั้นหากภาครัฐสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเข้ามาก็จะส่งผลดีต่อโครงการได้อีกทางที่สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้
นอกจากนั้น TK Park ยังได้รับงบสนับสนุนจากเทศบาลเมืองพะเยาและได้บูรณาการร่วมกับ TK Park ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ เพื่อการขยายเครือข่าย ดังนั้นโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้จึงเข้ามาอยู่ในการดูแลรับผิดชอบของกองการศึกษาได้ทันที โดยสามารถเรียนรู้ได้ทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ ผู้เรียนรู้จึงได้รับรางวัลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี เพราะได้รับการส่งเสริมด้านการเรียนรู้จากหลากหลายด้านนั่นเอง
“เรามั่นใจเพราะว่าสถานที่แห่งนี้สามารถให้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ปฐมวัยจนกระทั่งระดับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ประการสำคัญเทศบาลเมืองพะเยามีจุดแข็งคือมี 15 ชุมชนที่เข้มแข็ง โครงการต่างๆที่มีเทศบาลเป็นเจ้าของโครงการจึงเกิดความร่วมมืออย่างดียิ่ง อีกทั้งยังมีโรงเรียนจำนวนมากถึง 6 โรงเรียน บุคลากร และสถานที่จึงถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด มั่นใจว่าโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ : Phayao Learning City นี้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืนจริงๆ”