‘ทีเส็บ’ จัดงาน MICE DAY 2023 ดันแผน 5 ปีปั้นไทยเป็นผู้นำโลกด้านไมซ์
‘ทีเส็บ’ จัดงาน MICE DAY 2023 ดึงภาคีร่วมขับเคลื่อนแนวคิด “ไมซ์มิติใหม่ ขับเคลื่อนไทยด้วยนวัตกรรมยั่งยืน” ตามแผนปฏิบัติการห้าปีผลักดันไทยเป็นผู้นำโลกด้านไมซ์วางเป้าจัด 150 งานออกสู่ภูมิภาคมากขึ้น
งาน MICE DAY จัดขึ้นในวันที่ 26 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็น “วันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ หรือ National MICE Day” เพื่อเป็นเวทีกระตุ้นความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในการเป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และกระจายความเจริญไปยังทุกภูมิภาค
ในปีนี้งาน MICE DAY 2023 จัดขึ้นเป็นปีที่สาม ภายใต้แนวคิด “ไมซ์มิติใหม่ ขับเคลื่อนไทยด้วยนวัตกรรมยั่งยืน” ตอบโจทย์แคมเปญ “ปีแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ Thailand MICE to Meet You Year 2023”
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า งานนี้เป็นการผนึกกำลังผู้ประกอบการและพันธมิตรไมซ์ทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดและการปฏิบัติในเรื่อง “ความยั่งยืนและนวัตกรรม” มุ่งเน้นการพัฒนาที่ครบทุกองค์ประกอบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นแนวทางหลักตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี พ.ศ. 2566-2570 ขององค์กร
โดยแผนดังกล่าวกำหนดให้ประเด็นความยั่งยืนและนวัตกรรม อยู่ในห้าพันธกิจหลักที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ ได้แก่ ลำดับแรก คือ การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Global MICE Leader ด้วยการสร้างเครือข่ายพันธมิตร และสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านการดึงงานไมซ์นานาชาติเข้าสู่ประเทศ ลำดับที่สอง คือ การใช้เอกลักษณ์ชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายสร้างขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเมืองจุดหมายการจัดงาน หรือ Destination Competitiveness Through Diverse Local Identities ลำดับที่สาม คือ การใช้นวัตกรรมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไมซ์ไทยบนเวทีโลก ผ่าน Innovative MICE Solution ลำดับที่สี่ พัฒนาทีเส็บให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูงคล่องตัว หรือ Agile and High Performance Organization และลำดับที่ห้า พัฒนากระบวนการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมไมซ์ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์เพื่อการดำเนินการตามแนวทางที่ยั่งยืน หรือ Go for MICE Sustainability
ดร.อรรชกา เผยว่า จากรายงานผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ในสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 11,348,371 คน สร้างรายได้รวม 49,572 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 374,021 คน สร้างรายได้ 24,556 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 10,974,350 คน สร้างรายได้ 25,016 ล้านบาท สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมไมซ์กว่า 108,131 ล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ประชาชาติรวม 104,686 ล้านบาท โดยภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีจากการจัดกิจกรรมไมซ์ได้ 7,800 ล้านบาท และเกิดการจ้างแรงงานไมซ์เพื่อการจัดงานทั่วประเทศถึง 145,000 อัตรา
“เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยเป็นที่นิยมมากหลังจากการเปิดประเทศ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่เราจะสามารถต่อยอดโดยมุ่งไปที่การสร้างคุณภาพความยั่งยืน และการกระจายโอกาสให้กว้างขวาง อีกทั้งงาน MICE DAY 2023 ยังเป็นการประกาศความพร้อมในการแข่งขันในเวทีโลกด้วยแคมเปญ Thailand MICE to Meet You Year 2023”
ทั้งนี้ ภายในงาน MICE DAY 2023 มีกิจกรรมไฮไลท์ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศด้านเทคโนโลยีและความยั่งยืนในช่วง “Sustainnovation” พิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดประชุมนานาชาติ (Convention Ambassador) การจัดนิทรรศการ “เดินหน้ามิติใหม่ THAILAND MICE IT…HAPPEN” ซึ่งจะแสดงผลงานสินค้าบริการไมซ์จากชุมชน เครื่องมือและมาตรฐานรองรับด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืน
“ภาคเช้ายังมีการลงนาม MOU กับพันธมิตร 12 รายทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันผลักดันการจัดงานแสดงสินค้าของไทยกระจายออกไปสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น โดย MOU ครั้งนี้ต่อเนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายจัดให้ไม่ต่ำกว่า 150 งานเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคนั่นเอง ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในท้องถิ่น”
ด้านนางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า ต่อจากนี้ไปพอจะมองเห็นภาพการจัดงานด้วยการดึงงานไมซ์ขนาดใหญ่จากต่างประเทศมาจัดในประเทศไทยชัดเจนยิ่งขึ้น
“แม้ขณะนั้นประเทศไทยและอีกหลายประเทศของโลกจะเกิดวิกฤติโควิด-19 แต่ช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมาหน่วยงานทีเสบและหน่วยที่เกี่ยวข้องยังเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะหลักการจัดงานจะต้องมีการเปิดประมูลล่วงหน้า 3-5 ปี ดังนั้น 12 ธุรกิจใหม่ที่รัฐบาลมีแผนขับเคลื่อนงานใหญ่ระดับโลกมีอยู่ตรงไหน เราจะเข้าไปดำเนินการ ปีนี้จะได้เห็นภาพชัดขึ้นที่ขณะนี้งานพืชสวนโลกที่อุดรธานีและนครราชสีมาชัดเจนแล้ว ส่วนงานสเปเชี่ยลเอ็กซ์โปที่ภูเก็ตจะมีการพิจารณาในเร็วๆนี้ โดยงานของฝั่งการตลาดมีทั้งการขับเคลื่อนงานในประเทศและต่างประเทศ ณ วันนี้ภาคเช้าได้มีการลงนาม MOU กับ 12 พันธมิตรไปแล้ว ต่อจากนี้งานต่างๆ จะออกสู่ภูมิภาคและยกระดับไปสู่นานาชาติต่อไปในอนาคต งานที่เกี่ยวข้องกับ 12 ธุรกิจใหม่ยังเดินหน้าต่อไปพร้อมกันนี้ยังดึงงานใหม่ๆ ไปประกบกับงานปกติที่มีอยู่ให้ยิ่งใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะงานนวัตกรรมจะร่วมทำงานกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดึงเอสเอ็มอีมาสร้างแอพพิเคชั่นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ รัฐลงทุนและเอกชนนำผลงานไปใช้งานได้เลย เช่นเดียวกับการสร้างสูตรการทำงานจากคาร์บอน ได้ประสานให้มีผู้ขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นสำเร็จมาแล้ว ผลลัพธ์จึงทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วจากกลุ่มลูกค้าที่จะเลือกงานไปดำเนินการ”