บพท.ติวเข้มนักวิจัย รุกพัฒนาเมืองพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจสีเขียว
บพท.อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเมืองตามแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) ประจำปี 2564 “การพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่” กรอบการวิจัย “การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว” ติวเข้มนักวิจัยจากทั้ง 16 โครงการ
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาข้อเสนอชุดโครงการวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Full Proposal) แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) ประจำปี 2564 “การพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่” กรอบการวิจัย “การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว” ว่า Green Economy จัดว่าเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศไทยในการนำไปขับเคลื่อนที่จะต้องทำโครงการดังกล่าวนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้จริงและเร่งด่วน เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากโดยจะเน้นไปที่การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เนื่องจากพบว่าพื้นที่มีความเดือดร้อนได้รับผลกระทบไปทั่วหากมีสิ่งไหนสามารถดำเนินการได้เร่งด่วนควรจะดำเนินการก่อน
“หน้าที่ของนักวิจัยคือเป็นโค้ช เป็นที่ปรึกษา และเป็นนักวิจัยในพื้นที่ ที่จะนำพาชุดความรู้ไปปฏิบัติการในพื้นที่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ลงทำงานกับชาวบ้านเพื่อให้เห็นปัญหาของพื้นที่ ภาพสุดท้ายคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ โดยวัดจากปริมาณจำนวนคนที่ได้รับและเข้าถึงอาหารปลอดภัย ความยั่งยืนดูจากอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้น รายได้ต่อหัวของพื้นที่เพิ่มขึ้น รายจ่ายของครัวเรือนลดลง เห็นกลไกใหม่ในพื้นที่หรือการจัดการวิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืน“
ดังนั้นกลุ่มเศรษฐกิจสีเขียวจึงถูกเลือกนำมาขับเคลื่อนให้เป็นระบบเศรษฐกิจที่จะต้องเร่งพัฒนาขึ้นมาขับเคลื่อนต่อไปได้ ให้มีนักปฏิบัติจำนวนมาก มากกว่าจะเป็นนักวิชาการเพื่อทำอย่างไรให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นโดยเร็ว
โดยหน้าที่ของ บพท. จะต้องทำความเข้าใจนักวิจัยทุกคนให้เห็นถึงเป้าหมายความต้องการคืออะไรในการนำเสนอโครงการแต่ละแห่ง เป็นการอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน สำหรับความสำเร็จจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่นั้นจึงจะต้องมีเกณฑ์วัดความเป็นไปได้จากโจทย์การวิจัยในครั้งนี้
สำหรับกรอบการวิจัยและประเด็นโจทย์ที่ให้ความสำคัญของกรอบการวิจัยการพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียวนั้น โจทย์ที่กำหนดไว้ 3 ข้อหลัก ดังนี้คือ
1.การวิจัยและพัฒนากลไกความร่วมมือระดับเมือง ทั้งกลไกภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างระบบการผลิตในพื้นที่กับความต้องการและการบริโภคในเมือง
2.การวิจัยและพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อเป็นพื้นที่กลางในการเชื่อมต่อระบบการผลิตกับความต้องการและการบริโภคในเมืองรูปแบบต่างๆ อาทิ ตลาดอาหารปลอดภัย ตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ เป็นต้น
และ 3.การวิจัยและพัฒนาระบบนิเวศ ทั้งการพัฒนาเชิงโครงสร้าง ระบบการผลิต ระบบการวิเคราะห์การลงทุน การพัฒนาคนและเครื่องมือ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว โดยชุดโครงการวิจัยจะต้องดำเนินโครงการตามโจทย์วิจัยทั้งหมด
โดยเป้าหมายที่ต้องการคือ แผนพัฒนาเชิงพื้นที่ ข้อมูลเปิดระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนภาคประชาชน กลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนและพัฒนาแบบต่าง ๆ กลไกที่ทำให้เกิดการลงทุน และ/หรือ ธุรกิจท้องถิ่น (Business Model) เกิดพื้นที่ต้นแบบ (Prototype) การพัฒนาเมืองบนฐานเศรษฐกิจสีเขียวหรือพื้นที่กลางเพื่อการเรียนรู้และจัดการห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการ เกษตรกร และข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด
นอกจากนั้นจะเห็นว่าเทคโนโลยีมีมากมาย แต่ความรู้ที่ขาดไปมันเกิดจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการจัดการพื้นที่มากกว่า เพราะฉะนั้นโจทย์ของแต่ละโครงการคือจะสามารถออกแบบได้อย่างไรบ้าง การตรวจวัดจึงจะมองไปที่เทคโนโลยีที่นำมาใช้ซึ่งเหมาะกับนักวิจัยรุ่นใหม่ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่ได้อย่างไรบ้าง บางคนอาจจะมองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่บางกลุ่มก็นำมาใช้งานบ้างแล้ว อาทิ งานด้านสังคม
“เทคโนโลยีนี้เป็นพื้นฐานที่นักวิจัยในพื้นที่ควรจะมี ทักษะแบบนี้กระบวนการคิดแบบนี้มีความจำเป็นต่อการวิจัยในพื้นที่นั้นๆ นั่นคือวันนี้ได้ให้กรอบการวิจัยและทฤษฎีที่นักวิจัยในพื้นที่เพื่อเป็นเครื่องมือของการดำเนินงานวิจัยดังกล่าว ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยฉบับสมบูรณ์ต่อไป ประการสำคัญต้องคาดหวังความร่วมมือในพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นได้จริงเพื่อความชัดเจน แต่หากมีอะไรที่ดีกว่าก็พร้อมรับข้อเสนอได้อีกเช่นกัน”
สำหรับหน่วยงานทั้ง 16 แห่งนั้นเบื้องต้นคัดมาจากกว่า 100 โครงการที่ยื่นข้อเสนอโครงการเบื้องต้นเข้าสู่ระบบ ผ่านกระบวนการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และคาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนเป็นโครงการได้ มีการพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งเห็นว่ามีความเป็นไปได้ทางด้านศักยภาพของโครงการ แต่ก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่าเมื่อผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ไปแล้วอาจมีบางโครงการที่จะไม่ได้ดำเนินการต่อ หลังจากนี้อีก 2 สัปดาห์จะเป็นช่วงของการตัดสินใจแต่ละกลุ่มว่าควรตั้งงบประมาณให้เหมาะสมอย่างไรเพื่อจะนำเข้าสู่การพิจารณาโดยละเอียดในท้ายที่สุดอีกครั้ง
ด้านตัวอย่างหนึ่งในคณะนักวิจัยโดยดร.ธิติพัฒน์ วีเปลี่ยน นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการการเชื่อมโยงระบบการผลิตและความต้องการบริโภคผัก เพื่อเป็นต้นแบบการยกระดับความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจสีเขียวในจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านเป็นพื้นที่เกษตรกรรมผลิตพืชผักผลไม้แต่ละปีจำนวนมาก แต่กลับมีปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงคนในจังหวัด ในปัจจุบันมีผลผลิตเพื่อบริโภคประมาณ 20% เท่านั้น ส่วนอีก 80% ต้องนำมาจากต่างจังหวัด
ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงลงพื้นที่ไปหาข้อเท็จจริงว่าสาเหตุเกิดจากอะไร พบว่าพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่เป็นการผลิตพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีการส่งเสริมและมีองค์ความรู้ในการปลูก ตลอดจนปัจจัยการผลิตแบบครบวงจร ในขณะที่มุมมองของเกษตรรุ่นใหม่จะเน้นเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จึงมีความพยายามปรับเปลี่ยนมาเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งบางส่วนสามารถหาตลาดได้แล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถหาตลาดได้ จึงต้องเร่งศึกษาหาข้อแตกต่างของทั้งสองกลุ่มข้างต้นด้วยกลไกทางการวิจัย
ดังนั้น จึงต้องลงพื้นที่ระดับชุมชนเนื่องจากผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างกลไกที่เหมาะสมเข้าไปช่วยปรับระบบการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ อาทิ กลุ่มที่ต้องการเกษตรอินทรีย์ กลุ่มทำผักปลอดภัย เป็นต้น เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิต รวมทั้งสร้างกลไกเพื่อการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นแบบผสมผสานมากให้ขึ้น เพื่อให้สภาพแวดล้อมได้เกิดการฟื้นตัว มีการปรับปรุงฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมานาน
“ให้มีการปลูกพืชผสมผสานเพื่อใช้เป็นอาหารมากขึ้น ให้มีตลาดรองรับการบริโภคในจังหวัด จะสามารถตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารได้ ค่อยๆเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น เช่นเดียวกันยังมองตลาดไว้รองรับควบคู่กันไปด้วย ใครจะรับซื้อ หรือซื้อได้ในปริมาณเท่าไหร่ จึงเป็นฐานข้อมูลด้านการตลาดและด้านการผลิต เพื่อให้ชุมชนนำไปใช้งานหลังจากที่คณะนักวิจัยเสร็จสิ้นโครงการนี้แล้วชุมชนยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง”
สำหรับรายละเอียดทั้ง 16 ชุดโครงการ ประกอบด้วย 1. การเชื่อมโยงระบบการผลิตและความต้องการบริโภคผัก เพื่อเป็นต้นแบบการยกระดับความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจสีเขียวในจังหวัดน่าน โดยดร.ธิติพัฒน์ วีเปลี่ยน นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ 2.การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมในการสร้างการประกอบการเกษตรอินทรีย์ในเมืองบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อพัฒนาให้เป็นย่านนวัตกรรมสีเขียวของกรุงเทพชั้นใน เขตราชเทวี พญาไท และจตุจักร โดยน.ส.ปารีณา ประยุกต์วงศ์ นักวิจัยจากสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะ
3.การพัฒนาเมืองและชุมชนสู่ความยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจ สีเขียว “เชียงรายเมืองเกษตรสีเขียว อาหารปลอดภัย” โดยผศ.ธนากร สร้อยสุวรรณ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และคณะ 4.การพัฒนาศักยภาพเมืองร้อยเอ็ดบนฐานเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยน.ส.ขวัญชนก อำภา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และคณะ 5.โครงการพัฒนาระบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตรและอาหารด้วยการตลาดเพื่อสังคมสู่อยุธยาเมืองสีเขียว โดย รศ.ดร.กิตติ บุญเลิศนิรันดร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และคณะ
6.ระบบนิเวศน์อาหารปลอดภัยบนฐานเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาเมืองอุบลราชธานี โดย ดร.จริยาภรณ์ อุ่นวงษ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะ 7. การพัฒนาเมืองหาดใหญ่บนฐานเศรษฐกิจสีเขียว โดย ดร.ธารพรรษ สัตยารักษ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และคณะ 8.ราชบุรีเมืองน่าอยู่บนฐานเศรษฐกิจสีเขียวและการดูดซับเศรษฐกิจในพื้นที่ โดย รศ.ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ 9.ขอนแก่นยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว โดย รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ 10.โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฝั่งธนบุรีด้วยแผนผังภูมินิเวศและคลังสมองของพื้นที่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยดร.รัตมณี อ๋องสกุล นักวิจัยจากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และคณะ
11.โครงการพัฒนาเมืองพิษณุโลกและพื้นที่โดยรอบบนฐานห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจสีเขียว โดย รศ.พัฒนา ราชวงศ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ 12.การพัฒนาและประเมินผลกระทบห่วงโซ่อุปทานของระบบการผลิตผักปลอดสารพิษในนิเวศเกษตรเมือง โดยนายทัพไท หน่อสุวรรณ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ 13.กลไกการขับเคลื่อนระบบนิเวศเศรษฐกิจสีเขียวอย่างไม่เป็นทางการเมืองขอนแก่น กรณีศึกษา : การสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ให้กับผักอินทรีย์ โดย ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 14.โมเดลเศรษฐกิจสีเขียวบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดย ผศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ 15.เมืองเก่าเชียงใหม่และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง : เมืองสมดุลพลวัตภายใต้กรอบความคิดเมืองยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจใหม่ และเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม โดยนายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร นักวิจัยจากบริษัทใจบ้าน สตูดิโอ จำกัด และคณะ และ 16.การพัฒนาเมืองยะลาผ่านแนวความคิดเกษตรฮาลาลพรีเมี่ยมเพื่อสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากชนบทสู่เมืองอย่างยั่งยืน โดย ดร.อรรถพล อดุลยศาสน์ นักวิจัยจากมูลนิธิประชาชาติเพื่อการศึกษาและพัฒนา และคณะ