มรภ.สุราษฎร์ธานีดันกลไกเชิงพื้นที่ เร่งพัฒนา 6 ชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ

มรภ.สุราษฎร์ธานี ผนึกเครือข่าย ดันกลไกเชิงพื้นที่พัฒนา 6 ชุมชนและพื้นที่ต่อเนื่องสู่เมืองอัจฉริยะ ด้านนายกอบจ.ปิ้งไอเดียยันพร้อมสนับสนุนเต็มที่ เร่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนให้เกิดผลจริง
 

ชุดโครงการวิจัย เรื่อง “การสร้างกลไกเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เพื่อยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสู่เมืองอัจฉริยะ พื้นที่การศึกษาในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี” ล่าสุดได้นำเสนอรายงานความคืบหน้าระยะ 6 เดือนต่อหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้จะเร่งขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบระยะเวลา 12 เดือนตามสัญญา ต่อไป
 

โดยความคืบหน้าเรื่องนี้ ดร.นรา พงษ์พานิช หัวหน้าคณะนักวิจัยเปิดเผยว่า จากจุดเริ่มต้นบนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีที่จัดอยู่ใน 4 ประเภท จาก 7 ประเภทตามแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ คือ Smart Living / Smart Governance / Smart Environment / Smart Economy ของแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ภายใต้กรอบการวิจัย “เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ / Smart City” ปีงบประมาณ 2563 โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม
 

สำหรับชุดโครงการวิจัยดังกล่าวประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย จำนวน 4 โครงการ คือ (1) การสร้างกลไกเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาย่านเมืองเก่าในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีสู่เมือง อัจฉริยะ (2) การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี (3) การพัฒนากลไกสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีสู่เมืองอัจฉริยะ และ (4) การพัฒนาระบบให้บริการและแนะนำข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวอัจฉริยะในย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
 

ชุดโครงการวิจัยนี้ มี 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ  (1) เพื่อพัฒนากลไกสร้างสรรค์และขับเคลื่อนเชิงพื้นที่สำหรับย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (2) เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและศักยภาพในย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และ (3) เพื่อเสนอแนวทางการยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสำหรับย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีสู่เมืองอัจฉริยะผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
 

ดัน 6 ชุมชนและพื้นที่ต่อเนื่องสู่เมืองอัจฉริยะ
 
พื้นที่ครอบคลุมบริเวณย่านเมืองเก่าในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี หรือที่คนสุราษฎร์เรียกกันติดปากว่า “บ้านดอน” ประกอบด้วย (1) ชุมชนตลาดบ้านล่าง (2) ชุมชนหน้าด่าน (3) ชุมชนวัดไทร (ตลาดศาลเจ้า) (4) ชุมชนตลาดท่าเรือ (5) ชุมชนตาปี (6) ชุมชนราษฎร์อุทิศ และ (7) พื้นที่ต่อเนื่อง ได้แก่ ตลาดสะพานโค้ง 100 ปี (สะพานเศรษฐภักดี) ตลาดสดเทศบาลฯ พื้นที่ริมแม่น้ำตาปี (ฝั่งทิศใต้) และศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี
 

โดยแผนดำเนินการตลอดช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมานั้นมุ่งสู่การขับเคลื่อนแบบ “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Action Research : PAR) และ “การร่วมรังสรรค์” (Co-creation) เพื่อมุ่งเน้นการสร้างกลไกแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคของคนทุกช่วงวัย การสร้างงาน การสร้างสังคมเป็นสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และความเป็นเมืองอัจฉริยะ นั่นเอง
 

จะเห็นชัดเจนว่าเกิดกลไกการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ของผู้ขับเคลื่อนกลไกเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี มีระดับผู้นำชุมชนทั้ง 6 ชุมชนเป็นแกนนำหลัก รวมถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ท่องเที่ยวจังหวัด ททท.สุราษฎร์ฯ โยธาจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ แล้วยังมีผู้บริหารระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัดคือ นายศักดาพร รัตนสุภา เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของชุดโครงการและโครงการวิจัยย่อยทั้ง 4 โครงการ
 

จัดกิจกรรมร่วมภาครัฐ-ประชาชน
 
ตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2564 ได้ร่วมขับเคลื่อนกลไกเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาผ่านกลุ่ม “นักธุรกิจรุ่นใหม่” ในย่านเมืองเก่าฯ (บ้านดอน) ที่ทำช่องทางสื่อสารของตนเองสารคดีเชิงข่าวออนไลน์ผ่านยูทูปและเฟสบุค เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าฯ ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาแพพันวารีย์ โซนเดอะกรีนเนอรี่ อีกหนึ่งพันธมิตรได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการและยังได้จับมือ 12 ชุมชน สู้วิกฤติโควิด – 19 เปิดโครงการ Goal together “เติบโต ร่วมใจ ไปด้วยกัน” ซึ่งจัดขึ้นโดยนายณัฐนวรรธ ศักดา ผู้ก่อตั้งแพพันวารีย์โซนเดอะกรีนเนอร์รี่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นหลังจากวิกฤติโควิด-19 โดยการจับมือกับ 12 ชุมชน เพื่อเป็นการแบ่งปันโอกาสสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเป็นการแสดงสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นจากแต่ละชุมชน และร่วมกันกับนักวิจัยในโครงการนี้เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้กำหนดเส้นทางท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าฯ โดยดึง “อ้น…สราวุธ มาตรทอง” นักแสดงชื่อดังมาร่วมงาน
 

ภายในงานได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชนในงานแถลงข่าวเปิดโครงการ “ Goal Together” ที่มี นายฑิฆัมพร สุทธิอุดมรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายเอกพจน์ ยอดพินิจ รองนายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี ให้เกียรติเป็นประธานในงาน ส่วนภาคเอกชนได้ให้ใช้พื้นที่จัดงานขึ้นที่ร้าน เลอ เวอร์ริเดี้ยน โฮทาวน์แอนด์คาเฟ่ ถ.ตลาดใหม่ ต.ตลาด อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี (เยื้องกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี) ซึ่งเป็นหนึ่งของธุรกิจในเครือเป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้าและให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ มีชุมชนเข้าร่วมโครงการ 12 ชุมชนและสินค้ากว่า 40 รายการ โดยมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มหอการค้า ผู้ประกอบการ นักวิจัยจากโครงการฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม
 

นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรม Graffiti หรือภาพวาดบนผนังอาคารที่ชุมชนตลาดบ้านล่าง ณ ย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี นำเสนอการวาดภาพทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทั่วทั้งภาคใต้ของประเทศไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ขึ้นที่ชุมชนตลาดบ้านล่าง ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำตาปี และได้เดินทัพผ่านบริเวณจุดที่วาดภาพนี้ เป็นผลงานวาดภาพตามกำแพงผนังอาคารต่างๆ ตลอดแนวถนนสายเก่าริมแม่น้ำตาปี เพื่อสร้างให้เป็นถนนศิลปะ Street Art จากความร่วมมือของนักศึกษาปี 3 สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และนักศึกษา ปวส. 2 แผนกคอมพิวเตอร์กราฟิกของวิทยาลัย อาชีวศึกษา สุราษฎร์ธานี ในการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เรื่องเล่ายุคสมัยโบราณย้อนยุคครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสงครามมหาเอเชียบูรพา
 

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 พบอีกว่ามีนักการเมืองท้องถิ่นระดับเทศบาลนครนครสุราษฎร์ธานีได้เข้าร่วมหารือกับคณะนักวิจัยของโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนข้อมูลไปเขียนเป็นนโยบายที่จะใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนมีนาคม 2564 นี้อีกด้วยจึงเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการนำข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ไปขับเคลื่อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
 

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ยังได้รับความไว้วางใจจาก นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในสัปดาห์แรก พร้อมด้วย นายกฤษฎา ปานบำรุง เลขานุการนายก อบจ. ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้เข้าพบท่าน ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ดร.นรา พงษ์พานิช และคณะนักวิจัยชุดนี้ เพื่อเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะในครั้งนี้ด้วย และเตรียมนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้
 

หารือร่วมเพื่อขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา นำโดย ดร.นรา พงษ์พานิช หัวหน้าชุดโครงการวิจัย / ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ ดร.จันทร์พร ช่วงโชติ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว (เกาะสมุย) มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ได้ประสานและประชุมออนไลน์ (ผ่านระบบ ZOOM) กับคณะกรรมการกฎบัตรไทย นำโดย ดร.ดรณ์ สุทธิภิบาล ดร.นพัฐกานต์ เกิดแสง คุณภูวนารถ ยกฉวี และนายฐาปนา บุณยประวิตร ได้ประชุมกับ ภายใต้ 2 สำคัญคือ “กฎบัตรไทยกับการขับเคลื่อนกลไกเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีสู่เมืองอัจฉริยะ” และ “ความร่วมมือพลิกฟื้นเศรษฐกิจโรงแรมกลุ่มอ่าวไทยตอนบน” (หมู่เกาะทะเลใต้) ซึ่งจะเป็นการดังเอาเครือข่ายระดับชาติและระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนและเชื่อมโยงไปยังมิติต่างๆ มากขึ้น
 

โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี จะเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกฎบัตรสุขภาพ และเสนอตัวเพื่อเป็นแกนกลางในการประสานหน่วยงานและกำหนดมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้โครงสร้างการผลิตเป็น Wellness Hotel โดยพุ่งเป้าไปยังการเสริมสภาพการจ้างงานและการสร้างกิจกรรมวิถีใหม่เพื่อให้ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถประคองกิจการและเดินหน้าต่อไปได้


เร่งถอดบทเรียนจัดทำแผนต่อยอดปี 64
 
สำหรับแผนการขับเคลื่อนจากนี้ไปจนครบ 12 เดือนตามสัญญานั้นจะมุ่งไปเรื่องการจัดทำผังและแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาย่านเมืองเก่าในเขตเทศบาลนครสุราษฏร์ธานี รวมทั้งระบบการให้บริการประชาชน ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และระบบให้บริการแนะนำข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวอัจฉริยะ และเตรียมจัดประชุมใหญ่เพื่อระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุดโครงการวิจัยนี้ “มาถอดบทเรียนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายเพื่อสรุปคัดเลือกประเด็นสำคัญ เพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่แผนและนโยบาย รวมทั้งการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในเชิงกลไกต่างๆ ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น เทศบาล อบจ. และจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ครอบคลุมทุกมิติ และเพื่อเป็นแนวทางในการขอทุนวิจัยสนับสนุนการขับเคลื่อนต่อในปีงบประมาณ 2564 ต่อไป”