ดันไมซ์ (MICE) นำพัฒนาเมืองพิษณุโลก
พิษณุโลกพัฒนาเมืองรุกต่อเนื่อง ชูแผนพัฒนาไมซ์(MICE) ขับเคลื่อนสู้ภัยโควิด-19 เดินหน้าบูม 3 โซนต่อเนื่อง เร่งต่อยอดโครงการริมน่านสามสี ปลุกชีวิตพลิกฟื้นชุมชนตลาดใต้ หนุนรัฐปั้นสนามบินสู่นานาชาติหวังฟื้นเศรษฐกิจกิจอย่างยั่งยืน
นายวิรัช ปัญญาทิพย์สกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทพิษณุโลกพัฒนาเมือง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทพิษณุโลกพัฒนาเมือง จำกัด ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 โดยการรวมตัวของภาคเอกชน แต่การทำงานจะยึดหลักร่วมลงทุนคือมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา
การขับเคลื่อนในเบื้องต้นนั้นเกิดจากการได้ร่วมหารือกับอีก 6-7 เมืองที่เป็นบริษัทพัฒนาเมืองต่างๆ ณ ที่รัฐสภาเพื่อหาพระราชบัญญัติสักหนึ่งฉบับที่ให้บริษัทพัฒนาเมืองทำงานได้อย่างคล่องตัว แต่เกือบ 2 ปีที่ผ่านมายังไม่คืบหน้ามากนัก
ในปี 2561 ริเริ่มพัฒนาโครงการริมน่านสามสี เป็นโครงการที่แบ่งสามสีด้วยเหตุผลว่าปัจจุบันผู้คนที่ไปจังหวัดพิษณุโลกมีวัตถุประสงค์เดียวคือไปกราบไหว้พระพุทธชินราช จากนั้นจะเดินทางไปที่อื่น ดังนั้นจึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เมื่อผู้คนเดินทางมาพิษณุโลกแล้วจะให้มีกิจกรรมอย่างอื่นในพื้นที่เพิ่มได้อีก
ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกได้เห็นการพัฒนาในหลาย 3 โซนหลัก อาทิ การสร้างสะพานแห่งใหม่ข้ามมาจากพระราชวังจันทน์ เดิมคือ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม มาถึงสะพานนเรศวร ใกล้วัดใหญ่ จัดให้เป็นพื้นที่โซนวัฒนธรรม และจากสะพานนเรศวรไปถึงสะพานเอกาทศรถ จะมีสวนชมน่าน จัดเป็นโซนพื้นที่สันทนาการ ส่วนโซนที่ 3 สีม่วงคือเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมใกล้จุดสถานีรถไฟพิษณุโลกที่เป็นทั้งสถานีรองรับรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ภาพรวมการพัฒนาจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ตามริมน้ำน่านไว้ทั้งหมด
ส่วนในอนาคตจะจัดให้มีรถรางนำเที่ยวพื้นที่ริมน้ำน่านครอบคลุมระยะทาง 3.2 กม.จากพระราชวังจันทน์ถึงวัดท่ามะปราง รถรางจะไม่วิ่งบนถนนแต่จะเลาะไปตามลำน้ำน่าน โดยจะหารือดำเนินการร่วมกับจังหวัด และเทศบาลในพื้นที่ ตลอดจนกรมเจ้าท่า ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อไป
นอกจากนั้นยังมีพื้นที่พัฒนาอีกหนึ่งแห่งคือ ตลาดใต้ ตลาดตอนเช้า มรดกอันเก่าแก่ที่อยู่คู่ชุมชนและมีกลิ่นอายความเป็นมรดกของจังหวัดพิษณุโลกมานมนาน เมื่อปี 2562 ได้ทุนมาศึกษาวิจัยตลาดใต้แห่งนี้ ทั้งการปรับปรุง การอนุรักษ์ให้อยู่คู่เมืองสองแควตลอดไป
สำหรับลำน้ำน่านในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก นั้นบริษัทพิษณุโลกพัฒนาเมืองได้ศึกษาวิจัยเพื่อจะกั้นแม่น้ำช่วง กม.7 ให้เป็นเขื่อนเพื่อเพิ่มระดับน้ำสูงขึ้นอีกราว 3 เมตรให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวต่อเนื่องจากจุดวัดใหญ่ไปยังจุดอื่นๆได้อีกด้วย รวมถึงภาพรวมตามแนวลำน้ำ แม้ในอดีตมีผู้คนกล่าวนามว่าพิษณุโลกเป็นเมืองอกแตก คือ มีการพัฒนาฝั่งใดฝั่งหนึ่งของลำน้ำน่านเท่านั้น ปัจจุบันจึงมีแนวคิดนำคุณค่าของแม่น้ำมาส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว
ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำ อาทิ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามทำการศึกษาวิจัยการพัฒนาพื้นที่ต่างๆของจังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะโครงการพัฒนาริมน่าน 3 สีซึ่งหากสามารถทำได้ตามแผนจริงยังสามารถโยงใยไปได้อีกหลายมิติ
นอกจากนั้นพิษณุโลกยังได้รับการขนานนามว่าเป็นสี่แยกอินโดจีน และปักหมุดเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปีจะเป็นศูนย์กลางหลายด้านจึงเป็นการใช้ภูมิศาสตร์มาเป็นจุดเด่นของการเชื่อมโยงให้กับเมืองพิษณุโลก
ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่บริษัทพิษณุโลกพัฒนาเมือง จำกัด พัฒนาด้วยจิตอาสาจึงมีโอกาสเข้าร่วมประชุมและเป็นคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนหรือนำเสนอความคิดเห็นต่างๆมาโดยตลอดทั้ง 9 แผนยุทธศาสตร์ โดย 1 แผนที่ประสบความสำเร็จคือ แผนไมซ์ (MICE) ในโครงการพิษณุโลกไมซ์ซิตี้ที่เกี่ยวกับการจัดประชุม นิทรรศการต่างๆ โดยได้ทำการบ้านอย่างหนักมาอย่างต่อเนื่อง บูรณาการร่วมหลายฝ่ายจนได้มาตรฐานระดับภูมิภาคซึ่งบางส่วนต้องผลักดันต่อไป โดยเฉพาะเรื่องสนามบินหากสามารถก้าวสู่ระดับนานาชาติ เชื่อมถึงจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ภูเก็ต สมุย อุบลราชธานี ขอนแก่น ฯลฯ ได้จะช่วยกระตุ้นพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
ประการหนึ่งนั้นปัจจุบันยังพบว่ามีกลุ่มทุนเข้ามาในพื้นที่หลายราย เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาทิ กลุ่มแสนสิริ กลุ่มศุภาลัย นั่นหมายความว่ากลุ่มทุนเหล่านี้ล้วนเล็งเห็นถึงศักยภาพของเมืองพิษณุโลก ดังนั้นรัฐบาลควรต้องเร่งเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ อาทิ เส้นทางโลจิสติกส์อย่างเส้นทางการบินให้เกิดการเชื่อมต่อหลากหลายเมืองมากขึ้น เกิดเป็นพลังบวกตามมา ให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก่อนนำการพัฒนาอื่นๆตามมาในที่สุด
นอกจากนั้นเมืองพิษณุโลกยังเป็นศูนย์กลางแปรรูปข้าว แล้วยังเป็นแหล่งปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้พันธ์ุดีบนพื้นที่ 3 แสนไร่ที่อำเภอเนินมะปราง อีกทั้งยังอุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว สถานที่ทางวัฒนธรรม อาคารเก่าเพื่อการอนุรักษ์อยู่หลายจุด ตลอดจนสถาบันการศึกษาที่ครบถ้วน โดยสิ่งเหล่านี้ต้องการจะยกระดับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
นอกจากโครงการริมน้ำน่าน 3 สีแล้วคือ รัฐบาลควรเร่งยกระดับสนามบินพิษณุโลกให้เป็นสนามบินนานาชาติ ขณะนี้มีนักลงทุนพร้อมจัดสายการบินมาให้บริการเชื่อมถึงเมืองเว้ ดานัง ของเวียดนาม โยโกฮามา เซ็นไดของญี่ปุ่น แล้วยังจะเชื่อมไปแม่สอด เมียวดี เมืองมะโคของเมียนมา
“คาดว่าต้นปี 2564 สายการบินแอร์เอเชียจะบินจากพิษณุโลกไปอู่ตะเภา หาดใหญ่ ดังนั้นจึงมีโอกาสพัฒนาค่อนข้างมากของเมืองพิษณุโลก อีกทั้งยังได้มีการระบุไว้ในแผนฟื้นฟูของการบินไทยที่จะโฟกัสไปที่เมืองพิษณุโลกเอาไว้ด้วย”
ประธานกรรมการบริหาร บริษัทพิษณุโลกพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวอีกว่า ดังนั้นแผนการพัฒนาของพิษณุโลกพัฒนาเมืองจึงยังเน้นการพัฒนาไมซ์(MICE) เป็นกุญแจรุกหนักใน 2-3 ปีต่อจากนี้โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นแกนนำรวม 9 จังหวัดภาคเหนือเพื่อผนึกกำลังสร้างเครือข่ายให้ขยายวงกว้างมากขึ้น ได้ตั้งสมาคมไมซ์ขึ้นมาขับเคลื่อนอย่างจริงจังนำร่องภาคเหนือตอนล่าง
“ดังนั้นหากเกิดมิตติ้ง อินเทนชีฟ หรือคอนเวนชั่น เอ็กซ์ซิบิชั่นในอนาคต ขณะนี้มีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่รองรับได้ 3,000 ที่นั่งของมหาวิทยาลัยนเรศวรรองรับเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นปี 64-65-66 จึงมีความพร้อมขับเคลื่อนกิจกรรมไมซ์ได้ทันที” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทพิษณุโลกพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวในตอนท้าย