บพท.ปั้นม.ธรรมศาสตร์เมืองอัจฉริยะ

บพท.หนุนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สร้างชุมชนมหาวิทยาลัยต้นแบบ จ.ปทุมธานี เร่งขับเคลื่อนการวิจัยตามแผนงาน “การบูรณาการแผนเมืองอัจฉริยะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่เมืองมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน” ใช้ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมืองเป็นหน่วยงานควบคุม และขับเคลื่อนโครงการทั้งหมด

รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนการวิจัยตาม
แผนงาน “การบูรณาการแผนเมืองอัจฉริยะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่เมืองมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ภายใต้แพลตฟอร์ม (Platform) 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเลื่อมล้ำ โปรแกรม 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเองบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โดยปัจจัยส่งเสริมการวิจัยในครั้งนี้เกิดจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และพื้นที่โดยรอบในรัศมี 10 กิโลเมตร จะถูกพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบของการขยับสู่เมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ด้วยการผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่ครบทั้ง 7 หลัก อันได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ การเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ การบริหารจัดการภาครัฐ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ และพลเมืองอัจฉริยะ อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเมือง นำมาผ่าน “แผนงานการบูรณาการแผนเมืองอัจฉริยะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่เมืองมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน” โดยคณะอาจารย์ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานเล็งเห็นปัญหาของการพัฒนาพื้นที่อันมาจากมหาวิทยาลัยถือเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มักสร้างการเปลี่ยนแปลงของการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นเสมือนจุดเกิดเหตุที่ต้องเร่งแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุด้วยการบูรณาการความรู้จากหลากหลายศาสตร์ร่วมกัน

ในส่วนระดับของปัญหาจะพบว่า จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งปัญหาอาชญากรรม อุบัติเหตุทางถนน มลพิษทางอากาศจากการเผาทุ่งนา หรือขยะ หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนแรงงานด่างด้าวที่อพยพเข้ามาหาแหล่งงาน และการเติบโตของจำนวนผู้สูงอายุที่ยังไม่มีการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานใด ๆ รวมถึงปัญหาจราจรติดขัดที่นับว่าเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

อนึ่ง พื้นที่มหาวิทยาลัย ต้องเป็นพื้นที่แห่งการขับเคลื่อนนวัตกรรม ด้วยการวิจัยและการพัฒนาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ แผนงานวิจัยจึงเล็งเห็นว่า พื้นที่มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ทดสอบนวัตกรรม ซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมาทั่วโลก พบว่าร้อยละ 90 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จมาจากการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ทดสอบนวัตกรรมโดยทั้งสิ้น ดังนั้น ภายใต้การดำเนินการตามแผนงานดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงได้วางแผนงานให้ครบทั้ง 6 หลักของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่ว่า “ชุมชน+นวัตกรรม+ มหาวิทยาลัย+ความร่วมมือ” เพื่อสร้างให้เกิดความสอดคล้องของการดำเนินงานและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในการปฏิบัติงานและการมีส่วนร่วมของชุมชนต้องคู่ขนานกัน

โดยการพิจารณาภาพรวมทั้งหมดจะใช้ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง (Center of Excellent in Urban Mobility Research and Innovation) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่ควบคุม และขับเคลื่อนโครงการทั้งหมดให้สอดคล้องและขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีการปฏิบัติงานและการสร้างความร่วมมือของแต่ละภาคส่วนอย่างแท้จริง วัตถุประสงค์เพื่อสร้างชุมชนมหาวิทยาลัยต้นแบบของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาครัฐ สำนักงานจังหวัดปทุมธานี เทศบาลเมืองท่าโขลง เทศบาลตำบลสามโคก เทศบาลเมืองคลองหลวง เทศบาลนครรังสิต ตลอดจนภาคเอกชนจากสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดปทุมธานี นวนคร และตลาดไท และเจ้าของพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยมีทั้งหมด 11 โครงการย่อย ได้แก่ 1) การพัฒนาโครงข่ายการให้บริการรถโดยสารอัจฉริยะในพื้นที่ชุมชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) 2) การพัฒนาระบบจัดเก็บ วิเคราะห์ และแสดงผล ข้อมูลการเดินทางขนาดใหญ่ ผ่านโครงข่ายดิจิทัลเพื่อการให้บริการระบบขนส่งอัจฉริยะในพื้นที่เมืองขนาดย่อม 3) ความเป็นธรรมในเมืองอัจฉริยะ กับงานพัฒนา Digital Community เพื่อกระตุ้นให้เกิดความชอบธรรมในสังคม 4) การสร้างแพลตฟอร์มในการวิเคราะห์เมืองเพื่อการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างชาญฉลาด 5) การยกระดับนวัตกรรมเตียงสำหรับผู้สูงอายุเพื่อสรรค์สร้างระบบการดูแลและระบบนิเวศของผู้สูงวัยอย่างยั่งยืน 6) การพัฒนาฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังต้นไม้ในเมืองเพื่อสนับสนุนการจัดการสารสนเทศด้านรุกขกรรมของเมืองสีเขียวอัจฉริยะ 7) ฐานข้อมูลผู้สูงอายุและอาคารที่สามารถรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ เทศบาลนครรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และเทศบาลเมืองท่าโขลง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 8) ประชาชนอัจฉริยะเพื่อเมืองอัจฉริยะ 9) การจัดการขยะอย่างชาญฉลาด 10) การพัฒนาก๊าซเซนเซอร์ประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศในเขตเมืองอัจฉริยะ และ 11) กลไกการแลกเปลี่ยนอัจฉริยะเพื่อการพัฒนาธุรกรรมทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
 
สำหรับคณะทำงานมีรศ. ดร. ภาวิณี เอี่ยมตระกูล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการหลัก และเป็นหัวหน้าโครงการย่อย การพัฒนาโครงข่ายการให้บริการรถโดยสารอัจฉริยะในพื้นที่ชุมชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) (Thammasat Smart Bus)

โดยมีคณะผู้วิจัยประกอบไปด้วยผศ.ดร. ธีรยุทธ โหรานนท์ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.บุศราภา ลีละวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. ไอศูรย์ เรืองรัตนอัมพร สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.มานัส ศรีวณิช คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.พิชญา หุยากรณ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.วีระชัย นาสัมพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และดร.ศรัณวิชญ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร คณะวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
โดยในการดำเนินงานจะเป็นการต่อยอดมาจากโครงการกรอบแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กรณีศึกษาจังหวัดปทุมธานี (Pathumthani Smart City Roadmap) (พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – มกราคม พ.ศ. 2563) ได้กำหนดวิธีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตั้งแต่แนวทางของกระบวนการสร้างเมืองดิจิทัล ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของของปัญหาและพื้นที่แก้ไขเพื่อวางเป้าหมาย (Goal) ของการดำเนินงานและดัชนีชี้วัด รวมถึงเสนอแนะแนวทางการวางแผนพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีพื้นฐานของการบูรณาการองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ และกรณีศึกษาของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ

แล้วยังต่อยอดจากโครงการการบูรณาการด้านการจัดการจราจรและการผังเมืองเพื่อการพัฒนาชุมชนมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน (Traffic Management and Urban Planning towards Sustainable Campus Town Development) (ตุลาคม พ.ศ. 2562 – กันยายน พ.ศ. 2563) ที่เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านการวางผังเมืองและจัดการด้านการจราจรในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางถนนเป็นการแก้ปัญหาโดยการนำเอาองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ และสามารถแก้ไขปัญหาเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

อีกทั้งยังมีโครงการการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนเมืองสุขภาพดีภายใต้บริบทชุมชนเมือง จังหวัดปทุมธานี (A Study on Influencing Factors of  Healthy Neighborhood Development in  Suburban Context of Pathumthani Province) อันเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาทางสังคมที่มีความหลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและพื้นฐานทางสังคมในแต่ละบริบทที่แตกต่างกันออกไป อันจะทำให้ทราบถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและสังคมอันได้รับผลมาจากการพัฒนาเมือง

นอกจากนั้นยังมีแผนงานวิจัยแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชนระบบรางที่เอื้อต่อการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
กรอบการศึกษาวิจัย และดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชนระบบราง ซึ่งพิจารณาบริบทของการพัฒนาเชิงนโยบายรวมถึงกายภาพของเมืองให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมบริเวณโดยรอบสถานีขนส่งมวลชนระบบราง ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
สำหรับวัตถุประสงค์การวิจัยในครั้งนี้ประกอบไปด้วย 3 วัตถุประสงค์ดังนี้คือ 1) เพื่อพัฒนาชุมชนมหาวิทยาลัย (พื้นที่นำร่องในรัศมี 10 กิโลเมตร) สู่เมืองอัจฉริยะแห่งใหม่ด้วยเครือข่ายของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เป็นเมืองตัวอย่าง (Prototype City) ระดับจังหวัด 2) เพื่อส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมที่คนไทยเป็นเจ้าขององค์ความรู้ให้ต่อยอดในการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับเมืองสู่ระดับภูมิภาคและเป็นผู้นำทางวิชาการซึ่งมีพื้นฐานจากการพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกันของเครือข่ายทั้งในภาครัฐ (Governances) ภาคเอกชนผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Developers) นักวิจัย (Researchers) และประชาชน (Citizens) ต่อการบริหารจัดการและตอบสนองต่อความต้องการของเมืองอย่างชาญฉลาด (Smart City) และ 3) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยมีเป้าหมายของงานวิจัย คือ สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการทุกภาคส่วนซึ่งประกอบด้วย 6 แพลตฟอร์ม คือ 1) Smart Mobility เพื่อสร้างฐานข้อมูลการเดินทางทุกรูปแบบให้ชุมชนเกิดความสะดวก และเข้าถึงได้ในทุกกลุ่ม 2) Smart Living การสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเมืองและความเป็นอยู่ทั้งด้านความปลอดภัย สุขภาพ อาหาร 3) Smart Infrastructure การพัฒนาระบบโครงข่ายโทรคมนาคมที่สมบูรณ์ คุณภาพการติดต่อสื่อสาร ฐานข้อมูล IOT 4) Smart Energy Management พัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 5) Smart Economic ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตควบคู่กับเศรษฐกิจชุมชน 6) Smart Governance & People การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และพัฒนาสู่ทักษะคนในศตวรรษที่ 21

“โดยแผนบูรณาการทั้ง 6 แพลตฟอร์มจะช่วยขับเคลื่อนรากฐานของการพัฒนาที่เน้น “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ซึ่งอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลในแต่ละแพลตฟอร์มกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของเมือง เพื่อพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะต้นแบบระดับจังหวัดเพื่อเพิ่มดัชนีของคุณภาพคน การศึกษา บริการสาธารณะ และสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่เมืองที่มีเครือข่ายระบบอัจฉริยะที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง โดยในการศึกษาที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมจำนวน 3 ครั้ง”