สอวช. ร่วมขับเคลื่อนโครงการ “AI for All”

ทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนโครงการ “AI for All” มุ่งสร้างองค์ความรู้ผ่าน 5 โครงการ พร้อมรับกับยุคของ AI เต็มรูปแบบ
 
“ปัญญาประดิษฐ์” หรือที่ทุกคนเรียกติดปากกันว่า “AI”  (Artificial Intelligence) ได้เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์  ในหลายองค์กรธุรกิจได้นำ AI เข้ามาใช้เพื่อเสริมศักยภาพระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
ในขณะที่นักพัฒนาเทคโนโลยี นักอุตสาหกรรม และนักธุรกิจ กำลังพุ่งเป้าให้ความสำคัญกับ AI แต่เมื่อถามว่า AI คืออะไร  คนทั่วไปส่วนใหญ่เกือบจะไม่เคยได้ยินคำว่า AI ด้วยซ้ำ  และยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจว่า AI คืออะไร  เจาะให้ลึกลงไปจะเห็นได้ว่า แต่ละคนมีภาพความเข้าใจของ AI ที่ไม่เหมือนกัน และความไม่เข้าใจเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อทิศทางการขับเคลื่อน AI  ของประเทศไทยในอนาคต  
 
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษา เดินหน้าจัด โครงการ “AI for All” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของกำลังคนในประเทศ ให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ได้
 
“เมื่อ AI มีความสำคัญทั้งในเชิงเทคโนโลยีและในเชิงการใช้งาน สำคัญในเรื่องของการช่วยพัฒนาประเทศไทยและพัฒนาโลก ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า คนจะตกงานเพราะถูก AI เข้ามาแทนที่ ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน ตั้งแต่เยาวชนไทย ไปจนถึงเทคโนโลยี ระบบการจัดการ และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง นี่จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนโครงการ AI For All โดยอว.ได้บูรณาการร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI แก่ประชาชน ผ่าน 5 โครงการย่อย ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ รวมไปถึงชุมชนและสังคม เป็นการจุดประกายให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของ AI

โดยการขับเคลื่อนโครงการในระยะเริ่มต้น จะมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นความสำคัญ และได้ทราบว่าประโยชน์ของ AI เป็นอย่างไร รวมไปถึงมีประเด็นใดบ้างที่ต้องระมัดระวัง ที่สำคัญคือเราไม่เป็นเพียงแค่ผู้รองรับการพัฒนาเท่านั้น แต่สามารถอยู่ในแนวหน้าของภูมิภาคได้” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าว
 
ภายใต้โครงการ AI For ALL แบ่งออกเป็น 5 โครงการย่อย ได้แก่ 1.โครงการ AI ไทยสามารถ มุ่งสร้างกระแสความสนใจ ความรู้ และความเข้าใจเรื่องปัญญาประดิษฐ์เบื้องต้น สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้จักหรือยังไม่เข้าใจ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  2.โครงการ AI@School มุ่งพัฒนาศักยภาพเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้มีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ 3.โครงการ Super AI Engineer มุ่งพัฒนานวัตกร/วิศวกร/นักวิจัย/วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4.โครงการ AI/ROBOTICS FOR ALL มุ่งพัฒนานวัตกร/นักวิจัย/วิศวกร/วิสาหกิจเริ่มต้น ให้เกิดความตระหนัก และมีความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5.โครงการ SMART Agricultural Robot Contest 2020 มุ่งส่งเสริมให้นิสิต/นักศึกษาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาจากภาคการเกษตร และต่อยอดผลงานเข้าสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
 
นอกจากนี้ยังมีมุมมองเกี่ยวกับ AI ที่น่าสนใจจากผู้ที่อยู่ในแวดวงไอทีและการสื่อสาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีความเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยและคนไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือและรู้เท่าทัน AI ให้มากที่สุด

“ซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์” กล่าวว่า “การปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะทุกวันนี้ AI เข้ามาอยู่ในชีวิตของเราในหลายรูปแบบ ทุกอย่างมี AI เกี่ยวข้องหมด นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการรู้เท่าทัน AI ต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น รู้จักที่จะฉลาดใช้อย่างสร้างสรรค์ อย่าให้ AI มาควบคุมเรา”

“ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กล่าวว่า “AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้สะดวกมากขึ้น ในงานที่เราทำซ้ำ ๆ  หากเราดึง AI เข้ามาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยลดต้นทุน และทำให้องค์กรสามารถเดินหน้าไปได้ สิ่งสำคัญคือ จะใช้อย่างไรให้ชาญฉลาดหากเราสามารถปรับตัวและเรียนรู้ เราจะเป็นผู้ใช้มันและไม่ให้มันเข้ามาแทนที่เราได้”

“คัตโตะ-อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล” กล่าวว่า “AI เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น กับสิ่งที่หลายคนกังวลว่าในอนาคต AI จะเข้ามาแทนที่คนนั้น ในมุมมองของตนเองมองว่า สิ่งที่ AI ไม่มีและไม่สามารถทำได้คือ ความคิดสร้างสรรค์และความฝัน  ซึ่งหากคนพัฒนาในส่วนนี้ไปเรียนรู้ในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ และนำเอา AI เข้ามาช่วยเสริม ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เราจะนำ AI มาใช้อย่างไรมากกว่า”
 
แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับ AI มากมาย  แต่นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคส่วนหันมาร่วมกันขับเคลื่อนให้โครงการเดินหน้า เพื่อพร้อมรับกับอนาคตในยุคของ AI เต็มรูปแบบ