อธิการม.มหิดลเห็นชอบ ตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ” จ.นครสวรรค์

กฎบัตรแห่งชาติเดินหน้าศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพมหิดล(ราชเทวี-พญาไท และศูนย์จ.นครสวรรค์) หลังอธิการบดีม.มหิดลเห็นชอบภายหลังหารือร่วมอย่างเป็นทางการพร้อมเร่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน “กฎบัตรมหิดล” ส่วนเทศบาลนครนครสวรรค์พร้อมประสานความร่วมมือทุกฝ่าย

นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ เปิดเผยกับ UCD News ถึงความคืบหน้าแผนการพัฒนาเมืองนครสวรรค์ในหลายแง่มุมที่น่าสนใจว่าข้อมูลเมื่อปี 2562-2563 จังหวัดนครสวรรค์มีรัฐมนตรีจาก 5 กระทรวงหลักเดินทางไปเยี่ยมเยือนมาแล้วนั่นสื่อหมายความได้ว่า “นครสวรรค์” มีความสำคัญอย่างยิ่งรัฐบาลคสช.จึงเฝ้าติดตามแผนการพัฒนาจังหวัดอย่างใกล้ชิด หลายโครงการถูกนำเสนอถึงมือรัฐมนตรีทั้ง 5 กระทรวงเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วจะได้มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

เปิดวิสัยทัศน์พัฒนาเมืองนครสวรรค์

สำหรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดนั้นปัจจุบันได้คณะผู้บริหารเทศบาลนครนครสวรรค์เลือกเอา “กฎบัตรแห่งชาติ” ที่ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งขึ้นโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ เป้าหมายเริ่มเห็นความชัดเจนอย่างต่อเนื่องจากที่ไม่เห็นการพัฒนาที่ชัดเจนมาก่อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่ได้ครั้งนี้เกิดจากการระดมสมองของประชาชนในพื้นที่เทศบาลนครนครสวรรค์ ตลอดจนกลุ่มกฎบัตรรวมทั้งจังหวัด พบว่าหลายกลุ่มอยู่นอกเขตเทศบาล อาทิ กลุ่มสุขภาวะ กลุ่มสมาร์ทฟาร์ม กลุ่มผลิตอาหารปลอดภัย เป็นต้น

สำหรับจุดด้อยของนครสวรรค์ พบว่าช่วงอดีตของเมืองนครสวรรค์ถูกจำกัดเขตความสูงของอาคาร ไม่เกิน 7 ชั้น พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนราชการ ที่ดินเอกชนมีน้อยจึงทำให้ราคาที่ดินสูง ราคา 1-2 แสนบาทต่อตร.ว. ทำให้ขาดโอกาสการลงทุน เมืองจึงไม่เติบโต

ดังนั้นภายหลังการประชุม “กฎบัตรนครสวรรค์” จึงเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าวพร้อมกับระดมความคิดที่จะปลดล็อกผังเมืองให้พื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นให้สามารถพัฒนาและวางผังเมืองที่ยั่งยืนได้ เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่ได้มากขึ้นด้วยการปลดล็อคผังเมืองให้สามารถก่อสร้างอาคารสูงได้มากกว่า 7 ชั้น

ประกอบการรัฐบาลได้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการด้านผังเมืองได้มากขึ้นจึงร่วมกับคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดวางแผนเสนอการวางผังเมืองนครสวรรค์ในแต่ละท้องที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะนี้ที่ปรึกษาอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้สามารถปลดล็อคพื้นที่ที่มีความเจริญพัฒนาได้ก่อน ทั้งบริเวณศูนย์การค้า อาคารใจกลางเมืองราว 2-3 พื้นที่ขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั้งต.ปากน้ำโพ ต.นครสวรรค์ตก ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของเมืองนครสวรรค์ปัจจุบันนี้

เร่งขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเมือง

ดังนั้นเมื่อได้ความชัดเจนทิศทางการพัฒนาเมืองจึงได้กำหนดกรอบการพัฒนาที่ไม่กระจัดกระจายอีกต่อไป สามารถก่อสร้างอาคารสูงรูปแบบมิกซ์ยูส ตามทฤษฎีการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน สามารถนำพื้นที่ที่เหลือมาพัฒนาด้านการจราจร สวนสาธารณะ ได้มากขึ้น เช่นเดียวกับสำหรับการขนส่งในเขตเมืองเมื่อผังเมืองชัดเจนแล้วจะคิดผังเมืองรวมก่อน ซึ่งอาจจัดให้มีระบบฟีดเดอร์เชื่อมโยงตั้งแต่ระบบราง ล้อ เรือ เช่น สถานีรถไฟปากน้ำโพ จะต้องเชื่อมโยงกับหลายพื้นที่ในเขตเมืองได้สะดวก รวดเร็วขึ้น รูปแบบรางและล้อหรือสมาร์ทบัสทันสมัยภายใต้ราคาที่ไม่แพงมากจนเกินไป เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวให้ประชาชนหันมาใช้ระบบสาธารณะให้มากขึ้น ประการสำคัญไม่เฉพาะพื้นที่เชื่อมต่อเท่านั้นยังต้องมองไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้ได้รับความสะดวกสบายอีกด้วย

“เราเริ่มใช้กฎบัตรเมื่อเดือน 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ส่วนในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่าได้มีการพัฒนาเมืองแบบขาดองค์ความรู้ เช่นเดียวกับอีกหลายเมือง จึงพบเห็นการทุบฟุตบาท ก่อสร้างถนนให้รถวิ่งแต่รถก็ยังติดอย่างต่อเนื่อง การวางผังเมืองจึงเป็นความสำคัญ ซึ่งกฎบัตรแห่งชาติจะให้ความสำคัญของถนนต่อโอกาสให้คนเดินได้สะดวกก่อน ต่อมาเป็นผู้ที่ใช้จักรยานในการเดินทาง ลำดับที่ 3 คือระบบขนส่งมวลชน ดังนั้นรถยนต์ส่วนบุคคลจึงจะได้รับสิทธิ์เป็นรายหลังๆ เนื่องจากรถยนต์สร้างมลพิษให้กับเมืองอย่างมาก เผาผลาญพลังงานและทำให้การจราจรติดขัด พื้นที่รถ 1 คันสามารถรองรับคนได้มากถึง 5-6 คน ดังนั้นทิศทางการพัฒนาต่อจากนี้ไปจะต้องเน้นให้คนใช้ถนนสามารถเดินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เป็นลำดับแรก รองลงมาคือจักรยานที่จะใช้พื้นที่น้อยและไม่ก่อมลพิษให้กับเมือง”

ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ กล่าวอีกว่า เมื่อคนเดินเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจในย่านนั้นๆดีขึ้นตามไปด้วย มีการจับจ่ายใช้สอยตามมา ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นเจ็บป่วยน้อยลง ลดการใช้งบประมาณการรักษาโรคต่างๆในแต่ละปี และย่านนั้นจะมีการค้าขายต่อกันมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนการพัฒนาตามรูปแบบสมาร์ทบล็อกในระยะ 7-800 เมตรเพื่อให้เห็นภาพการพัฒนาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ดังนั้นนครสวรรค์จึงจะต้องตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนทางธุรกิจว่าจะกำหนดอย่างไร เนื่องจากจะเข้าไปเกี่ยวโยงกับอีกหลายจังหวัดโดยรอบที่จะเติบโตไปพร้อมๆกัน ปัจจุบันนครสวรรค์มีประชากรเพียง 1 ล้านคน จึงไม่พอที่จะไปเรียกร้องการพัฒนาจากรัฐบาลได้ แต่เมื่อรวมอีก 6-7 จังหวัดโดยรอบจะเกิดเป็นพลังประชากรได้มากกว่า 4 ล้านคน รอบรับกับการเพิ่มของประชากรด้วยระบบรางได้อีก ดังนั้นเป้าหมายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจึงควรจะเป็นอย่างไร จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนเรื่องเพื่อสุขภาพ หรือ Wellness ให้เป็นศูนย์กลางของกลุ่มจังหวัดโซนนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรรมเป็นองค์ประกอบ ปรับเกษตรกรรมให้เป็นอาหารปลอดภัยจะเพียงพอโดยไม่ต้องไปพึ่งพาอาหารจากแหล่งอื่นๆ ศูนย์กลางโซนนี้จึงถือเป็นแหล่งการผลิตอาหารที่ขนาดใหญ่ในประเทศไทย

จุดพลุจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ยังได้มีการประชุมหารือรายละเอียดร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลโดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน พร้อมด้วยรศ.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นการประชุมร่วมเพื่อประสานความร่วมมือในการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพมหิดล” ขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตนครสวรรค์ร่วมกับเทศบาลนครนครสวรรค์และกฎบัตรนครสวรรค์ อีกด้วยโดยได้มีการเห็นชอบจากอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งหลังจากนี้จะได้มีการเร่งตั้งคณะกรรมการกฎบัตรมหิดลเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป