บิ๊กตู่มอบบ้านใหม่ให้ชุมชนบึงบางซื่อ

กทม. ร่วมต้อนรับนายกรัฐมนตรี มอบ”บ้านใหม่” ให้ชุมชนบึงบางซื่อ ตามโครงการสานพลังประชารัฐ

(11 ก.ย.63) เวลา เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบ “บ้านใหม่” ให้ชุมชนบึงบางซื่อ ตามโครงการสานพลังประชารัฐ โดยมี นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขตจตุจักร เขตบางซื่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) กรมธนารักษ์ ธนาคารออมสิน และ เอสซีจี ร่วมให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินการ จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารลงพื้นที่เยี่ยมชมบ้านตัวอย่าง เยี่ยมชมแปลงผักเกษตรอินทรีย์ และเยี่ยมชมระบบบำบัดน้ำที่เปลี่ยนน้ำเสียเป็นน้ำดี Zyclonic™ by SCG ณ บริเวณพื้นที่บึงบางชื่อ เขตจตุจักร

โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเอสซีจีและภาคีเครือข่ายสานพลังประชารัฐ เพื่อเป็นต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง จัดสรรพื้นที่อย่างคุ้มค่า มีพื้นที่ส่วนกลางใช้ประโชน์ร่วมกัน มีการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ลงตัวกับทุกวิถีชีวิต กระตุ้นให้เกิดการออมในชุมชน โดยมีผู้ร่วมโครงการ ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สนับสนุนสินเชื่อ เพื่อให้ชุมชนมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนับสนุนงบ 200 ล้านบาท ช่วยเติมเต็มให้ชุมชนได้บ้านที่เสร็จสมบูรณ์ มีสวนและพื้นที่ส่วนกลาง รวมทั้งมีระบบสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน การรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เช่าใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออก สำนักงานเขตจตุจักร ประสานความร่วมมือด้านการก่อสร้าง ธนาคารออมสิน สนับสนุนงบ 500,000 บาท เพื่อพัฒนาอาชีพของชุมชน กรมธนารักษ์ สนับสนุนงบ 200,000 บาท เพื่อพัฒนาอาชีพและรับมอบดูแลที่ดินจาก เอสซีจี เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงต่อชุมชนต่อไป

ในส่วนของ “บึงบางซื่อ” เคยเป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตปูนซีเมนต์ของเอสซีจี มีพื้นที่ 61 ไร่ มีพื้นที่ดินที่ชุมชนอยู่อาศัยตามขอบบ่อประมาณ 8 ไร่ และเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่พื้นที่ประมาณ 53 ไร่ อยู่ในพื้นที่ตาบอด สภาพพื้นที่เสื่อมโทรม มีปัญหาสิ่งแวดล้อมขยะและน้ำเน่าเสีย มีชุมชนประมาณ 250 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 1,500 คน เอสซีจีได้ใช้พื้นที่ขอบบึงทำเพิงพักให้คนงาน จากนั้นได้อาศัยสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอยู่ กลายเป็นชุมชนใหญ่ มีสภาพความเป็นอยู่แออัด

ในปี 2559 เอสซีจีจึงร่วมกับภาครัฐ-เอกชน และชุมชน ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ก่อนที่จะมอบที่ดินผืนนี้ให้กรมธนารักษ์ดูแลเพื่อเป็นหลักประกันให้กับชุมชน ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่ระยะที่ 1 สำเร็จแล้ว มีที่พักอาศัยรวม 197 ยูนิต ประกอบด้วยทาวน์เฮ้าส์ 60 หลัง ที่ชุมชนเข้าอยู่แล้ว พร้อมบ้านผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังและไม่มีรายได้ 4 ยูนิต ส่วนอาคารชุด 4 ชั้น 3 อาคาร รวม 133 ยูนิต คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2564

โดยความสำเร็จตามโครงการนี้ คือ ชุมชนได้มีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ 1) การยืนยันสิทธิ์ร่วมโครงการเพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรม 2) การสร้างวินัยการออม สะสมเงินเพื่อเป็นเจ้าของบ้าน 3) การร่วมกันคิดและออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต 4) การกำหนดกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน 5) การร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมและความสะอาดของชุมชน ซึ่งผลจากการมีส่วนร่วมทำให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนทัศนคติ มีความเอื้ออาทร ทำเพื่อสวนรวม เป็นชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเชื่อมั่นว่า ชุมชนจะมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์กลางกรุง ดูแลบึงน้ำให้สะอาด สวยงาม รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังได้ดำเนิน “กิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : การจัดการน้ำ” ภายใต้โครงการธนาคารออมสินเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2561 เพื่อส่งเสริมการจัดการน้ำในประเทศไทยที่มีปัญหาในหลายรูปแบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ทั้งความอยู่ดีมีสุขและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะ “การพึ่งตนเอง” สามารถใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2563 ธนาคารออมสินได้คัดเลือก “ชุมชนบึงบางซื่อ” สนับสนุนระบบ Zyclonic™ by SCG นวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียจากอาคารชุดในชุมชน ให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ พร้อมทั้งสนับสนุนการเลี้ยงปลา การทำแปลงผักสวนครัวระบบน้ำหยด และโรงเรือนเพาะเห็ด สร้างความมั่นคงทางอาหารภายในชุมชน ช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับชุมชนอีกด้วย