พื้นที่คลังสินค้า-โรงงาน อีอีซีโตต่อเนื่อง
ตลาดคลังสินค้าและโรงงานค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และอีอีซี ครึ่งแรกปี 63 ยังคึกคัก ผู้ประกอบการรายใหญ่รุกเปิดโลจิสติกส์ พาร์ค ครบวงจร พร้อมมองหาที่ดินรองรับการพัฒนาโครงการขนาด 2 แสนตร.ม.ในอีก 2 ปี
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า การขยายตัวของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่งผลให้คลังสินค้าและโรงงานเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดันอุปทานใหม่และอัตราการเช่าพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานรวมในประเทศไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ชที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการทำงานจากที่บ้าน (WFH)ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ผ่านมา รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการบริการช้อปปิ้งออนไลน์รายใหญ่ยังคงสนใจมองหาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีและส่วนใหญ่มองหาพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตารางเมตร
ด้านผู้พัฒนารายใหญ่ก็ยังคงมองหาที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าอีกกว่า 200,000 ตารางเมตรในอีก 2 ปีข้างหน้าโดยเฉพาะในพื้นที่สมุทรปราการ และในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับความต้องการที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 มองว่าปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนและประเทศอื่นๆ รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินภูมิภาครวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลต่อภาคการส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในหมวดสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
นอกจากนี้การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 ต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาทสามารถทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ค่อย ๆ ฟื้นตัวอีกครั้งอย่างช้า ๆ จากการใช้จ่ายในประเทศที่ผ่านมา และอาจกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดคลังสินค้าและโรงงานค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และอีอีซี ในช่วงครึ่งแรกปี 2563 อุปทานคลังสินค้าและโกดังในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 6,963,000 ตารางเมตร โดยพบว่าจังหวัดสมุทรปราการยังคงเป็นพื้นที่ที่มีพื้นที่คลังสินค้าสูงสุด มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 38% ที่ประมาณ 2.619 ล้านตารางเมตร ตามด้วยในพื้นที่อีอีซี ที่ 32% ที่ประมาณ 2.255 ล้านตารางเมตร และพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีการดำเนินการในตลาดอุตสาหกรรมและคลังสินค้า และยังคงพยายามขยายธุรกิจคลังสินค้าในพื้นที่เหล่านี้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี(จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา) หลังจากความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซี เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ยังส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจด้านอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนเนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่น่าจับตามองในอนาคตอันใกล้
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์พบว่าอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยในช่วงปีพ.ศ. 2554-2558 ประมาณ 7% และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการสนับสนุนของรัฐบาลในการพัฒนา ระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเป็น “ศูนย์กลางโลจิสติกส์” ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการสนับสนุนการเชื่อมต่อของเครือข่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค
ดังนั้น ในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการรายใหญ่ ยังคงให้ความสนใจพัฒนา โลจิสติกส์ พาร์ก แบบครบวงจร ในพื้นที่บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา บนที่ดินขนาด 200 ไร่ ในทำเลยุทธศาสตร์ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตร 46 เขต EEC ใกล้กับกรุงเทพมหานคร สนามบินสุวรรณภูมิ และท่าเรือแหลมฉบัง พัฒนาเป็นพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงระดับพรีเมี่ยมพร้อมด้วยบริการโซลูชั่นที่ครอบคลุม บนพื้นที่อาคารรวมกว่า 170,000 ตารางเมตร ซึ่งมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จระยะที่ 1 ภายในปี 2563 เพื่อรองรับความต้องการผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ด้านราคาค่าเช่าเฉลี่ยสำหรับพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานยังคงปรับตัวสูงขึ้น สำหรับในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีราคาค่าเช่าเฉลี่ยสูงที่สุดที่ 174 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งคลังสินค้าให้เช่าบางแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีราคาเสนอเช่าสูงกว่า 200 บาท (สัญญาเช่า 3 ปี) ตามด้วยค่าเช่าในพื้นที่อีอีซี ซึ่งอยู่ที่ 153 บาทต่อตารางเมตร และในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการที่ประมาณ 152 บาทต่อตารางเมตร
สำหรับเทรนด์การเช่าพื้นที่คลังสินค้าในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผู้เช่าสนใจพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตารางเมตร ในลักษณะ โรงงานแบบ Built-to-Suit (BTSF) Warehouse Farm ตามต้องการของลูกค้าสำหรับค่าเช่าส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ประมาณ 5% ในช่วงระยะสัญญาปีที่ 4-6 และอีกประมาณ 10% ในช่วงระยะสัญญาปีที่ 7-10 ซึ่งจากการขยายตัวเป็นอย่างมากของธุรกิจอีคอมเมิร์ช