AMR ลงทุนพันล้าน ลุยธุรกิจกรีนอีโคเต็มตัว

AMR จุดพลุธุรกิจปี 66 ส่องเทรนด์รุกกรีนทรานสปอร์ต พลังงาน IOT และระบบสาธารณูปโภค เตรียมเปิดตัวผนึกพันธมิตรรายใหญ่นำร่องขยายตู้ชาร์จแบตทั่วประเทศในปีนี้กว่า 300 ตู้พร้อมเตรียมเดินหน้าลงนามสัญญาผลิตไฟฟ้าระบบโซล่าเซลล์ป้อนทั้งรัฐและเอกชน ยันพร้อมลงทุนเองกว่าพันล้านบาท

นายมารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยนโยบายการรุกธุรกิจของ AMR ในปีนี้ว่า ปัจจุบันเทรนด์ธุรกิจใหม่ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นปี 2566 นี้จึงมุ่งเน้นธุรกิจหลักด้านกรีนทรานสปอร์ต IOT ด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยสิ่งเหล่านี้จะมีการพึ่งพากัน โดยเฉพาะด้านพลังงานที่ AMR จะรุกมากขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้ยังคงใช้ศักยภาพความเป็น SI รับงานการรับเหมาโครงการแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) การให้บริการสัญญาบริการจัดการและบริการซ่อมบำรุง (Operation and Maintenance) และการรับดำเนินงานแบบสัมปทานระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

ด้านกรีนทรานสปอร์ต EV Bike ที่จะขยายเติบโตขึ้น เพราะปีที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นเท่านั้นเพื่อให้ประชาชนยอมรับการใช้รถ EV เช่น มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่คนทั่วไปจะหันมาใช้งานมากขึ้น ดังนั้นปีนี้จึงจะเดินหน้าขยายรูปแบบธุรกิจนี้โดยมีเป้าหมายว่าจะขยายจำนวนตู้ชาร์จ (Swapping Battery Station) และร่วมจัดจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ระบบไฟฟ้าซึ่งปีนี้จะผลักดันให้ได้กว่า 300 ตู้  

ปัจจุบันแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานรูปแบบตู้ชาร์จแบตเตอรี่ใช้งานกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังเติบโตคู่ไปกับพันธมิตร ล่าสุดมีแผนขยายจุดติดตั้งกับพันธมิตรรายใหญ่ที่มีสถานที่รองรับตู้ทั่วประเทศ โดยเป็นรูปแบบลงทุนร่วมกันหลักหลายร้อยล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนพร้อมลงนามสัญญาช่วงต้นปีนี้ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมวงการครั้งสำคัญที่จะทำให้เห็นภาพในกลุ่มธุรกิจนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นภายในปีนี้
ส่วนในเรื่องการลงทุนด้านพลังงานทางเลือกนั้นอยู่ระหว่างรอการประกาศผลสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 70 MW ภายใต้ บจก. เทอราวัตต์ เอสพี (บริษัทย่อย) และจะมีการลงทุนเองเพื่อการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐและเอกชน โดยปีนี้ตั้งงบลงทุนเรื่องระบบโซล่าเซลล์ไว้หลักพันล้านบาท

เร่งต่อยอดสู่พลังงานระบบไฮโดรเจน-เคเบิ้ลคาร์

นายมารุตกล่าวต่ออีกว่า “ปีนี้แนวทางรุกธุรกิจก็ยังคงต่อยอดธุรกิจเดิมบางส่วน ส่วนหนึ่งรุกด้านพลังงาน กรีนซิตี้ ระบบโซล่าเซลล์ที่มีความโดดเด่นในการลงทุน เช่นเดียวกับการพัฒนาและลงทุนระบบไฮโดรเจน ทั้งนำไปใช้กับระบบรถไฟ รถบรรทุก รถขนส่งในอนาคตที่ไม่จำกัดเฉพาะระบบ EV เท่านั้น แต่จะเน้นรูปแบบพลังงานสมัยใหม่ซึ่งระบบไฮโดรเจนยังเป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจต่อยอดการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับการลงทุนด้านพลังงานลมที่ต่างประเทศยังต้องศึกษารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป”

สำหรับการลงทุนด้านเคเบิ้ลคาร์ในพื้นที่จ.ภูเก็ตนั้นยังเห็นว่ามีแผนพัฒนาระบบการเดินทางทั่วเกาะภูเก็ตซึ่ง AMR เคยนำเสนอข้อมูลบางส่วนไว้แล้ว ล่าสุดทราบว่ามีทุนจากประเทศฝรั่งเศสให้ความสนใจผ่านกระทรวงคมนาคม แต่ประเด็นหลักคือทำอย่างไรให้ครอบคลุมพื้นที่ได้จริง เทคโนโลยีไม่ใช่ประเด็นสำคัญ AMR ยืนยันพร้อมลงทุนหากไม่มีปัญหาด้านพื้นที่ดำเนินการ  และการวางคอนเซปต์ของเมือง ล่าสุดได้ร่วมหารือกับทีมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และกลุ่มบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมืองที่จะวางคอนเซปต์ให้ชัดเจน

“ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวและจะเป็นศูนย์กลางระบบเฮลท์แคร์เพื่อให้บริการประชาชนหรือนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศสามารถอยู่ภูเก็ตนานหลายวันมากขึ้น อีกทั้งยังจะมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าภาพดำเนินการ ดังนั้นหากรัฐบาลกลางคิดเป็นหนึ่งเดียวกับหน่วยงานท้องถิ่นก็คงจะสามารถขับเคลื่อนได้รวดเร็วขึ้น”

นายมารุต ศิริโก กล่าวเสริมว่า AMR อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนเกี่ยวกับ Smart Green City เพื่อการมีส่วนร่วมรักษ์โลก และลดคาร์บอนไดออกไซต์ โดยเฉพาะระบบโซล่าเซลล์ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่กำลังมาแรงจึงเป็นโอกาสที่จะรุกหัวเมืองสำคัญ ร่วมกับกลุ่มบริษัทพัฒนาเมืองต่าง ๆ ดังนั้นต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน โดยจะรุกผ่านบริษัทลูกและรุกตรงผ่านการร่วมทุนกับพันธมิตรขึ้นอยู่กับแต่ละโมเดลธุรกิจ

“การลงทุนด้านระบบพลังงานของหัวเมืองหลักขอเพียงเปิดโอกาสให้ AMR เท่านั้นก็พร้อมจะเข้าไปลงทุนด้วยทันที ท้องถิ่นนั้น ๆ จึงต้องชัดเจนและยังเชื่อว่าจะสามารถจุดประกายขึ้นที่ภูเก็ต ก่อนที่จะขยายไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ หากระดับผู้นำเมืองหารือจนได้ข้อสรุป ประการสำคัญภูเก็ตมีแผนจัดโครงการขนาดใหญ่ในอีกไม่กี่ปีนี้จึงน่าจะมีส่วนพลิกโฉมเมืองและประเทศไทยระยะ 6-8 ปีนี้การพัฒนาระบบการเดินทางจึงต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่วันนี้”