ผนึกกฟผ.-มจพ.-AMR รุกขยายธุรกิจพลังงานทางเลือก

บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) เดินหน้าต่อเนื่อง เร่งเซ็ตทีมขยายธุรกิจพลังงานทางเลือกสร้างโอกาสทางธุรกิจ เจรจา กฟผ.-มจพ. ร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า “EV-Bike-Platform” พร้อมรุกขยายสถานีสลับแบตเตอรี่ คาดสิ้นปีนี้เพิ่ม 100 จุด

นายสมศักดิ์ ปรางทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้า และกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า นอกจากความสำเร็จจากการร่วมสนับสนุนการพัฒนาสถานีสลับแบตเตอรี่ที่ร่วมกับพันธมิตรอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) และบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR แล้ว ล่าสุดยังอยู่ระหว่างเจรจากับไปรษณีย์ไทยในการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้โครงการนี้เพื่อต่อยอดโครงการนำไปใช้ประโยชน์กับองค์กรทั้งระบบเพื่อการประหยัดพลังงาน

ดังนั้นจึงต้องดีไซน์รูปแบบแอปพิเคชั่นให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์สำหรับผู้แสดงความต้องการซึ่งจะเข้าสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์ต่อไป อำนวยความสะดวกด้านการใช้งานสำหรับแอปพิเคชั่น สื่อสารได้ครบถ้วนและรวดเร็วจริง ล่าสุดสถาบันยานยนต์และกรมการขนส่งทางบกก็แสดงความสนใจโครงการนี้ดังนั้นจึงเร่งให้มีการจดทะเบียนยานยนต์ในโครงการให้ถูกต้องต่อไป

“อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทไปรษณีย์ไทย แนวโน้มยังน่าสนใจ พื้นที่บางกรวยตอบรับด้วยดีแล้ว เบื้องต้นจะลงตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งทราบว่าได้มีการประเมินระยะทางแต่ละเส้นทางไว้แล้วจึงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรอีกหลายรายเพื่อนำรถไปใช้งานในธุรกิจนั้นๆทั้งวงการโลจิสติกส์และคอนวีเนียนสโตร์ขนาดใหญ่ สอดคล้องกับปัจจุบันที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงน่าจะสนองความต้องการได้อย่างตรงวัตถุประสงค์ที่สุดกรณีช่วยประหยัดพลังงานและพลังงานสีเขียวนั่นเอง”

ด้านนายมารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยกับ www.ucdnews.com ว่าบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างงานกับ มจพ.ในโครงการพัฒนาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 3 สถานี จำนวน 9 ตู้ มูลค่า 6.39 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีศึกษารถรับจ้างสาธารณะในพื้นที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

โดยมจพ. ได้รับงบโครงการวิจัยนี้จากกฟผ.เพื่อศึกษาเทคโนโลยีและการอัดประจุไฟฟ้าให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผู้ขับขี่ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างบริเวณพื้นที่บางกรวย เพื่อทดสอบการให้บริการอัดประจุไฟฟ้าผ่านสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่เพื่อช่วยลดระยะเวลาการรออัดประจุ โดยจากเฟสแรกที่ทดลองให้วินมอเตอร์ไซต์รับจ้างใช้บริการปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างมากเพราะเสียงเงียบ ไม่มีควันพิษ แถมยังมีเงินเหลือจากค่าเชื้อเพลิงที่ถูกลง กฟผ.-สจพ.-AMR ยังมีแผนพร้อมลุยต่อยอด “EV-Bike Platform” ที่จะขยายพื้นที่การให้บริการทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดในอนาคต ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มหนุนอนาคตโตยั่งยืน แล้วยังมีลุ้น กฟผ.หารือไปรษณีย์ไทยใช้รถพลังงานไฟฟ้านำร่องให้บริการส่งพัสดุไปรษณีย์โซนบางกรวยก่อนขยายไปทั่วประเทศ

ความสำเร็จดังกล่าวหลังจากคว้างานเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มและตู้สลับแบตของมจพ. AMR ยังเร่งพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มกำลังการผลิตโดยต้ังเป้าหมายรับงานกว่า 1,000 ตู้ เผยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของ มจพ. ร่วมกับ กฟผ.เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการอัดประจุไฟฟ้าให้กับรถจักรยานยนต์ใช้พลังงานขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าให้บริการรับจ้าง บริเวณพื้นที่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ กฟผ. พร้อมเดินหน้าต่อยอดพัฒนา “มาชาร์จ แพลตฟอร์ม ” ให้บริการผู้ประกอบการ สร้างรายได้เพิ่มผลักดันอนาคตโตยั่งยืน

นอกจากนั้นยังเร่งส่งเสริมจักรยานยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือ EV BIKE ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมีชุดไพลอตโปรเจคออกมาให้ทดลองใช้งานจำนวน 9 ตู้ คาดว่าปีนี้จะเติบโตถึง 100 ตู้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ทำให้กลุ่มผู้ใช้บริการมีอัตราค่าพลังงานถูกลงเกือบ 10 เท่าสนองกับช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงมาก ภาครัฐ ภาคเอกชนจึงต้องช่วยกันเร่งผลักดันจัดว่าเป็นเทรนด์ใหม่ด้านการประหยัดพลังงานของประเทศ

นายมารุตกล่าวอีกว่าสำหรับ “มาชาร์จ แพลตฟอร์ม” จะมี Web Application บริหารจัดการจากส่วนกลางและตู้สลับแบตของ AMR นี้ถูกพัฒนาโดยศูนย์วิจัยของบริษัท AMR เอง ทำให้สามารถปรับแก้เมนูการใช้งานที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน และตู้สลับแบตที่พัฒนาขึ้นสามารถสื่อสารกับแบตเตอรี่ได้ทำให้สามารถควบคุมและบริหารจัดการการประจุไฟฟ้าและตรวจสอบสภาพการทำงานของแบตเตอรี่ มีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ อีกทั้งสามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆในโครงการ ได้ดียิ่งขึ้นและมีประโยชน์สูงสุดต่อทั้งผู้ใช้งานและผู้ประกอบการ

รวมทั้งมีโปรแกรมประยุกต์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Application) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ (Rider) สำหรับการใช้งานสถานีฯในโครงการด้วยฟังก์ชั่นการค้นหาเส้นทางไปสถานีฯ ตรวจสอบปริมาณไฟฟ้าในแบตเตอรี่แต่ละก้อนของแต่ละสถานีและสามารถจองแบตเตอรี่ล่วงหน้าก่อนไปถึงสถานีฯได้ ตลอดจนสามารถแจ้งปัญหาที่เกิดจากการใช้งานสถานีฯผ่านแอปพลิเคชั่นได้อีกด้วย
รวมทั้งมีศูนยบ์ริการลูกค้า(CallCenter) อำนวยความสะดวกในการให้คำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหากับการใช้งาน โดยมีระบบบริหารจัดการการรับเรื่องร้องเรียนและแจ้งซ่อมเพื่อเข้าช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถใช้ดูภาพรวมและบันทึกย้อนหลังของงานบริการได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันมีการให้บริการหลังการขาย(CustomerService)ให้บริการโดยทีมงานที่เชี่ยวชาญในการบำรุงรักษาเชิงป้องกันจะเข้าตรวจสอบตามรอบการบำรุงรักษาเพื่อให้สามารถใช้งานสถานีได้อย่างต่อเนื่องและการบำรุงรักษาเชิงแก้ไขที่สามารถเข้าช่วยเหลือและแก้ปัญหาการใช้งานที่เกี่ยวกับสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้อย่างทันท่วงที

“การรับงานโครงการในครั้งนี้เป็นการดำเนินการใน 3 สถานีแรก มีจำนวน 9 ตู้ และคาดว่าจะมีโอกาสได้รับงานในโครงการต่อไปซึ่งบริษัทฯตั้งเป้าหมายที่จะได้รับงานในอนาคตอีกจำนวนกว่า 1,000 ตู้จะช่วยสนับสนุนให้มีรายได้มากขึ้นเพิ่มสัดส่วนของรายได้ประจำ (Recurring income) และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการเติบโตได้อย่างมั่นคง”

นายมารุตกล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทฯมีนโยบายที่จะรุกขยายการลงทุนไปในธุรกิจด้านการให้บริการพร้อมซ่อมบำรุง และดูแลรักษาแบบเบ็ดเสร็จ และร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับระบบคมนาคม เช่น ระบบขนส่งมวลชนรองระบบเคเบิลคาร์เพื่อการท่องเที่ยวพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภคและระบบอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการเมือง โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง

“กฟผ.อาจจะมีการผลิตเพิ่มเพื่อนำไปร่วมโครงการกับบริษัทไปรษณีย์ไทยในการส่งเสริมให้ใช้พลังงานไฟฟ้าต่อการรับ-ส่งไปรษณีย์ทั่วประเทศซึ่งขณะนี้รอความชัดเจนจากทาง กฟผ. ว่าจะเดินหน้าอย่างไร รูปแบบไหน เพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืนต่อไปนอกจากนั้นปัจจุบัน AMR อยู่ระหว่างการปรับทีมการทำงานเพื่อรุกสู่พลังงานทางเลือกได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ส่วนวงการคมนาคมก็ยังเดินหน้าต่อเนื่องควบคู่กันไป ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าพร้อมรอยื่นประมูลอีกหลายโครงการ

ด้านผศ.ดร.วรพจน์ มีถม หัวหน้าโครงการ กล่าวว่าพร้อมด้วยผศ.ดร.เต็มสิริ ทรัพย์สมาน รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมกับ EGAT และ AMR ผลักดันโครงการพัฒนาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่

“วัตถุประสงค์ของโครงการจะออกไปเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ว่าคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่ อย่างไร โดยได้ประสานวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในพื้นที่เข้าร่วมโครงการพร้อมแนะนำองค์ความรู้และประโยชน์ของการใช้งานสถานีสับเปลี่ยน เป้าหมาย 51 คันในรัศมี 5 กม.จากกฟผ. ส่วนสถานีสับเปลี่ยนเป็นการกำหนดคอนเซปต์ออกมาแล้วให้ AMR นำไปดีไซน์เพิ่มเติมจนออกมาเป็นรูปแบบการใช้งาน เบื้องต้นต้องศึกษาเส้นทางที่วินวิ่งให้บริการ แล้วไปออกแบบขนาดรถจักรยานยนต์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ช่วยประหยัดพลังงานได้จริง”

ทั้งนี้ในโครงการวิจัย มีผู้ให้บริการจักรยานยนตร์รับจ้างสาธารณะในพื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 51 คน และเปลี่ยนจากรถจักรยานยนต์ใช้น้ำมัน เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการแทน และมีสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้บริการจำนวน 9 ตู้กระจาย 3 จุดในพื้นที่บางกรวย นอกจากนั้นยังมีแผนขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น