AMR รุกเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ
AMR โชว์ความเป็นผู้นำด้านไอทีทันสมัยของระบบรางของไทย ประกาศรุกต่อเนื่องพร้อมเร่งต่อยอดผลงานปี 64 ก้าวข้ามสู่ปี 65 วางเป้าหมายรุกสร้างสรรค์เมืองอัจฉริยะ (Smart city) และอาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบดิจิตอลทวินและการสื่อสาร 5G
นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยในการเข้าร่วมเสวนางานสัมมนา Thailand Move On : Reshaping Landscape to Smart City ก้าวต่อไป ภูมิทัศน์ใหม่ เมืองอัจฉริยะ ในหัวข้อ Now & Next เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ Now & Next Technology for Smart Cities ที่จัดขึ้นโดยสื่อกลุ่มเนชั่นเมื่อไม่นานมานี้ว่า บทบาทการปรับเปลี่ยนเมืองไปสู่สมาร์ทซิตี้ของเอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR Asia) นั้นเห็นว่าเราเป็นบริษัทด้านไอที และวิศวกรรมเกี่ยวกับระบบราง ระบบสิ่งแวดล้อม ระบบรักษาความปลอดภัยและอนุรักษ์พลังงานสำหรับเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมานานกว่า 20 ปีมาแล้ว และในฐานะที่ผมเป็นรองประธานกฎบัตรแห่งชาติได้เข้าไปร่วมให้แนวคิดร่วมพัฒนาเมืองนครสวรรค์ ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดรธานี นครศรีธรรมราช และอีกหลายเมือง ซึ่งเมืองเหล่านี้ต้องพัฒนาความเป็นสมาร์ทซิตี้อีกหลายด้าน
ประการสำคัญพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้นั้นจากประสบการณ์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดสิ่งแรกที่พบคือหลายเมืองยังไม่ชัดเจนมั่นว่าเมืองของตนจะมีวิชั่นหรือทิศทางของเมืองอย่างไร แต่เมื่อสามารถกำหนดและเข้าใจได้แล้ว ก็ได้สร้างองค์ความรู้และสิ่งต่างๆ รวมมาเป็นเป็นบริบทเดียวกันของคำว่า “สมาร์ทซิตี้”
ชู “นครสวรรค์” วิชั่นการพัฒนาเมืองชัดเจน
ยกตัวอย่างจากการรับฟังจากนายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลเมือง นครสวรรค์ ก่อนที่จะได้พบว่าทุกคนจะคิดว่านครสวรรค์เป็นแค่เมืองผ่านเท่านั้น แต่เมื่อทราบรายละเอียดกลับพบว่านครสวรรค์มีหลายเรื่องที่ดีมาก เช่น พื้นฐานเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของเมือง เรื่องผักสะอาด สิ่งต่างๆเหล่านี้จึงนำไปสู่แนวคิดที่ว่าจะพัฒนาความเป็นสมาร์ทซิตี้ได้อย่างไร เช่น เรื่องการเดินทางที่สะดวก การจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และทำอย่างไรให้เป็นเมืองเศรษฐกิจที่ดี
ประการสำคัญผ่านไป 3 ปีนครสวรรค์เปลี่ยนจากเมืองเงียบๆ มาเป็นเมืองที่มีการลงทุนเกิดขึ้น การเป็นเศรษฐกิจที่ดีด้วยการลงทุนเกี่ยวกับไบโอแก๊สมูลค่าหลักหมื่นล้านบาทของกลุ่มปตท. กลุ่มเซ็นทรัลผุดศูนย์การค้ามูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท การเกิดขึ้นของกลุ่มพัฒนาเวลเนสหรือเฮ้ลธ์แคร์เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของภาคกลางตอนบนในอนาคต นั่นหมายถึงว่านครสวรรค์มีวิชั่นการพัฒนาเมืองชัดเจนขึ้น
สำหรับประเด็นมองว่า “นวัตกรรมเทคโนโลยี” อะไรที่จะมาปรับเปลี่ยนเมืองในอนาคตให้เป็นสมาร์ทซิตี้ได้นั้น จริงๆแล้วเราไม่ได้ทำเรื่องระบบรางเพียงอย่างเดียวแต่เรายังเป็นการพัฒนาระบบวิศวกรรมออกแบบและระบบ System Integration (SI) อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องโมบิลิตี้ในการให้บริการเดินรถเมล์ RTC Smart Bus ที่เชียงใหม่ เรายังออกแบบรถไฟฟ้าสายสีทอง หรือรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เราได้เข้ามาสัมผัส มองเห็นปัญหาแล้วทำให้เกิดขึ้นจริง หรือแม้แต่พัฒนาระบบสลับแบ็ตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ด้วย
เน้นระบบเชื่อมโยง-เชื่อมต่อ
สิ่งที่พบคือเกิดปัญหาในหลายเรื่อง สิ่งแรกของการเดินทางคือ การเชื่อมต่อการเดินทางจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งจะทำอย่างไร จึงเป็นเรื่องความรู้และความเข้าใจที่จะทำอย่างไรให้เกิดความสะดวก ประหยัดที่สุด จึงต้องเข้าใจข้อมูลเชิงลึกในแต่ละเมืองอย่างแท้จริงก่อน ดังนั้นทุกอย่างจึงต้องผสมผสานทั้งด้านเศรษฐกิจ ความคล่องตัวในการใช้เงิน มีเศรษฐกิจที่ดีบวกกับการนำเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมไปใช้ในพื้นที่นั้นๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อก่อนการผ่านไปเยาวราชประชาชนจะเลือกขับรถยนต์ไป ซึ่งรถติดมาก หลายๆ คนได้แต่ขับรถผ่านเพราะไม่มีที่จอด การค้าขายก็ไม่เกิด แต่วันนี้หลังมีรถไฟใต้ดินให้บริการ สามารถไปเยาวราชได้ง่ายขึ้นเมื่อไปถึงก็เดินหรือใช้บริการจักรยานยนต์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก แท็กซี่ เมื่อมีคนไปมากก็เกิดการค้ามากขึ้นด้วย นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเขื่อมต่อการเดินทางที่เป็นส่วนสำคัญของสมาร์ทโมบิลิตี้นั่นเอง
สำหรับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนเมืองสู่โลกอนาคตนั้นจริงๆ แล้ว หลายเมืองได้ดำเนินการทำโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบรถไฟฟ้า ระบบสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับบริหารจัดการน้ำ ระบบบริการ surveillance แถมบางเรื่องที่เราทำเสริมแล้วที่เกี่ยวกับดิจิตอลทวิน เช่น เรื่องอาคารอัจฉริยะ เพียงแต่ที่ผ่านมาเราทำเป็นส่วนๆ ไม่เชื่อมข้อมูลหรือระบบให้ทำงานร่วมกันและระบบเหล่านี้ก็ทำเพื่อให้หน่วยงานที่อยู่เบื้องหลัง เช่น กทม เทศบาล ใช้งานเท่านั่น แต่ในปัจจุบันประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการและมีส่วนได้เสียในการขับเคลื่อนเมืองมากขึ้น ระบบเหล่านนี้จึงต้องเชื่อมโยงกันทั้งการทำงานและข้อมูล เพื่อให้เกิดการจัดการและการรับรู้ของทุกภาคส่วนมากขึ้น นำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับเป้าหมายให้ทันเหตุการณ์ ตามนิยามของคำว่า เมืองอัจฉริยะ
แม้แต่ระบบเกี่ยวกับรถไฟฟ้าหรือหมวดคมนาคม เราสามารถดึงข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวกับปริมาณส่วนของคนเดินทางที่ได้จากระบบตั๋ว จะทำให้แต่ละเมืองเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีผู้โดยสารใช้บริการในแต่ละสถานีเท่าใดและเมื่อใด เพื่อใช้วางแผนการพัฒนาพื้นที่เศรฐกิจได้อย่างถูกต้อง อีกตัวอย่าง คือการแชร์แพลต์ฟอร์มใช้กับเมืองรวมถึงการทำระบบอาคารอัจฉริยะ (Smart Building) เพื่อประหยัดพลังงาน และประโยชน์ของดิจิตอลทวิน ที่ทำให้เห็นว่าห้องแมซซีนแต่ละตัวที่มีอยู่รูปร่างอย่างไร เป็นอุปกรณ์หรือมีสารเคมีหรือวัตถุอันตรายอยู่ตรงไหนของพื้นที่ หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถเปิดหน้าจอเพื่อให้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ทันที
นอกจากนั้นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรนั้นหากมองในเชิงเทคนิคไม่ได้แตกต่างกัน หรือต่างจังหวัดอาจทำงานง่ายกว่าด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เจอ คือ ปริมาณคนใช้บริการจะแตกต่างกัน คนกรุงจะชินกับบริการขนส่งสาธารณะ ขณะที่คนต่างจังหวัดจะชินกับการใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือจักรยานยนต์ จึงพบว่าการนำรถบัสคุณภาพดี แอร์เย็นสบาย มีไวไฟไปให้บริการยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของคนในพื้นที่นั้นๆได้ ดังนั้นหากดีไซน์คำว่าสมาร์ทโมบิลิตี้จึงต้องให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางจริง ให้สอดคล้องกันเรื่องความสะดวกสบายในการใช้บริการ จึงต้องออกแบบด้วยการนำเอาเรื่องของเมือง เรื่องคน มาพิจารณาประกอบไว้ด้วย
กรณีมีวิกฤตโควิด-19 ทำให้เทรนด์การพัฒนาระบบขนส่งปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างนั้น บอกว่า ณ วันนี้มีคนใช้น้อยลง เพราะกลัวโควิด-19 ดังนั้นสมาร์ทซิตี้จึงไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องความกลัวได้ แนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ คือ เข้มมาตรการทางสาธารณสุข ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม รถต้องสะอาด มีการใช้ระบบแสงยูวีฆ่าเชื้อที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ด้วยต้นทุนสูงค่าใช้จ่ายจึงสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเบื้องต้นทราบว่าช่วงยังไม่มีโควิด-19 บีทีเอสมีผู้ใช้บริการกว่า 1 ล้านคนต่อวัน เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดมากในกทม.พบว่ามีผู้ใช้บริการลดลงเหลือราว 2 แสนคน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาราว 5-6 แสนคนต่อวัน นั่นสื่อถึงว่าสมาร์ทซิตี้อาจไม่ได้เข้าไปช่วยโดยตรงเรื่องโควิด- 19 หากกล่าวถึงระบบขนส่งมวลชน แต่หากมีดาต้านำมาวิเคราะห์ได้ อาทิ สถานีอโศกมีคนเดินทางมากช่วงไหน ควรจะจัดระบบขนส่งมวลชนเข้าไปให้บริการอย่างเพียงพอ
ส่วนกรณีเมื่อระบบอินเตอร์เนตมีการประเมินความเสี่ยงและแก้ไขอย่างไรหากมีปัญหาเกิดขึ้นจะพบว่ามีโอเปอเรเตอร์หลายรายและก้าวล้ำไปสู่ระบบ 5G มีตัวอย่างกรณีกล่องซีซีทีวีในเมืองหรือกล้องจับภาพสภาพการจราจรไม่สามารถส่งภาพเข้ามายังศูนย์ควบคุมได้ เดิมต้องเดินสายระบบออพติค ปัจจุบันปรับมาใช้ระบบ 5G แทน เกิดคุณภาพความรวดเร็วตามมาแล้วยังนำภาพเหล่านั้นไปต่อยอดในการดูปริมาณทราฟฟิก ดูระบบไฟถนน แต่ยังเชื่อว่าระบบเนตเวิร์คของไทยมีคุณภาพที่ดี
แต่หากมองโอกาสเรื่องของการลงทุนในสมาร์ทซิตี้แล้ว ไทยเป็นเมืองบริการ เมืองท่องเที่ยว เคยจุดประกายให้เป็นเมืองเวลเนส จะพัฒนาบุคลากรให้เป็นสมาร์ทพีเพิลที่ดีได้อย่างไร เมืองสุขภาพที่มีการใช้พลังงานประหยัด มีต้นทุนต่ำเรื่องค่าครองชีพ เข้าถึงข้อมูลของรัฐอย่างเหมาะสมได้อย่างไร กระจายข้อมูลให้สามารถประกาศได้เลยว่าถ้าใครมาท่องเที่ยวแล้วจะมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย ช่วยประหยัดพลังงานจากการใช้รถไฟฟ้าหรือรถอีวี หรือโซล่าเซลล์ที่สามารถเคลมเป็นคาร์บอนเครดิตได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผู้มาเยือนได้ประโยชน์อย่างไร มีส่วนร่วมในการช่วยรักษ์โลกได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงเป็นการขับเคลื่อนด้วยการนำเอาระบบสมาร์ทซิตี้เข้าไปให้บริการ ยกตัวอย่างบางเมืองอย่างนครสวรรค์ได้มีการพูดถึงเรื่องเฮลท์แคร์ ที่เหมาะสำหรับดูแลผู้สูงอายุซึ่งนครสวรรค์เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพตำ่มาก จึงเป็นการนำเอาบริบทต่างๆไปจับแต่ละเมืองนั้นจริงๆ
หนุนรัฐ-เอกชนเร่งพัฒนานวัตกรรม
ด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ณ ขณะนี้ไทยควรจะปรับแก้ไขอย่างไรบ้างนั้นให้แข่งขันกับนานาชาติได้ พบว่าหลายบริษัทสามารถคิดค้นพัฒนานวัตกรรมระดับโลกได้หลายราย ภาพที่ยังไม่เห็นคือการนำมาคลัสเตอร์กันยังไม่ชัดเจน จึงต้องมีเจ้าภาพที่ประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคผู้บริหารเมือง ภาคนักธุรกิจ ประชาชน นักวิชาการ ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่องค์ประกอบเหล่านี้จะทำสำเร็จได้จะต้องมีเจ้าภาพนำขับเคลื่อนที่เกื้อกูลให้เกิดการบูรณาการในทุกมิติ ซึ่งสมาร์ทซิตี้จะมีหลายสิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องในมิติต่างๆ จึงเป็นการคิดแบบองค์รวมให้เกิดการอินทิเกรดระบบให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมใช้งานได้จริง แต่หากยังเป็นระบบไซโลอยู่แบบนี้ ไม่ประสานงานกันจริงก็จะยังไม่เกิดภาพเหล่านี้
“ยกตัวอย่างภูเก็ตกำลังพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้หากทุกอย่างเป็นไปตามนั้นก็จะเป็นแพลตฟอร์มที่ดีพร้อมกับเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังกรณีของการรวมกันของกฎบัตรแห่งชาติที่เรามีกำหนดว่าอยากขอให้ทุกคนมาร่วมต่อยอดการพัฒนาอย่างแท้จริง วันนี้ไทยขาดอยู่ข้อเดียวคือการมีเจ้าภาพร่วม จึงจะไปในทิศทางเดียวกันจริงๆ” นายมารุตกล่าวในตอนท้าย