จุดพลุ 13 เมืองดันเข้าแผน “สมาร์ทซิตี้ชาร์เตอร์”

UTE ผนึกกำลังกฎบัตรแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนของ บพท. และ สกสว. เปิดผังดัน 13 เมืองเข้าแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพดิจิทัลและแพลตฟอร์มการบริหารจัดการย่านอัจฉริยะ ตามกรอบกฎบัตรเมืองอัจฉริยะ “สมาร์ทซิตี้ชาร์เตอร์” ชูระบบเมืองอัจฉริยะต้นแบบนำประเทศไทยสู่เมืองนานาชาติ

19 สิงหาคม 2563 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม บี-ซี ชั้น 1 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว สำนักงานกฎบัตรแห่งชาติ (National Charter) ซึ่งก่อตั้งโดย “โครงการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ในการพัฒนาเมือง โดยการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 2” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม ลงนามข้อตกลงการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านกายภาพดิจิทัลและแพลตฟอร์มการบริหารจัดการย่านอัจฉริยะ ตามกรอบกฎบัตรเมืองอัจฉริยะ (Smart City Charter) อันเป็นความร่วมมือของ สมาคมการผังเมืองไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัทยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (UTE) พร้อมด้วย 13 เทศบาล เข้าร่วมการลงนาม

สำหรับการประชุมลงนามข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์และมิติใหม่ในการสร้างแนวทางการพัฒนาร่วมกัน รวมถึงการวางแผนปฏิบัติการวิจัยพัฒนาเมืองและการปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาล ชุมชน และพื้นที่ศึกษาอื่นๆ ที่ได้วางแผนไว้ภายใต้เจตนารมณ์กฎบัตรแห่งชาติ (National Charter) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ (New Urban and Economic Development Platform) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเป็นกลไกในการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันโดยรวมให้กับประเทศ ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ทั้งนี้มีเป้าหมาย 4 ข้อ ได้แก่ 1. สนับสนุนการตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วนของสังคมในการพัฒนาเทศบาลเป็นพื้นที่นำร่องพัฒนาเป็นย่านอัจฉริยะ 2. ร่วมกันวางแผนและออกแบบแนวคิดด้านการพัฒนาด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค 3. ส่งเสริมย่านอัจฉริยะเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และ 4. สร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อการวิจัยและนำไปปฏิบัติใช้ให้สำเร็จลุล่วง

นายภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) กล่าวว่า ดีป้าเป็นเลขานุการสำหรับการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของรัฐบาลในชุดที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้านการพัฒนาเมือง โดยกฎบัตรแห่งชาติเสนอดำเนินการสมาร์ทบล็อค หน่วยย่อยของสมาร์ทซิตี้ ซึ่งดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญสอดคล้องกับการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้

“หากมีการพัฒนาสมาร์ทบล็อคจะทำให้จับต้องได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมการออกแบบได้ ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงได้ เทศบาลสามารถลงทุนได้จริง ดังนั้นการพัฒนาเมืองจึงต้องการให้เอกชนคือ บริษัทพัฒนาเมือง จำกัด เข้ามาช่วยกัน เช่นเดียวกับได้กลุ่ม UTE ของกลุ่มเบญจจินดาเข้ามาสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งภาครัฐคือดีป้าจะเป็นตัวกลางเชื่อมประสานเพื่อขับเคลื่อนสนองนโยบายของภาครัฐให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป”

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และในฐานะรักษาการประธานกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้ “โครงการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ในการพัฒนาเมือง โดยการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 2” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการเมืองและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เสนอเป็นทางเลือกการพัฒนาให้กับรัฐบาล หน่วยงาน และองค์กรพัฒนาเมือง

“โดยมีเป้าหมายในภาพรวมในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมศักยภาพของเศรษฐกิจฐานราก และนำเอาเทคโนโลยีอัจฉริยะยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการเมืองและระบบเศรษฐกิจ ตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และนโยบายการพัฒนาเมืองสุขภาพของรัฐบาล”

ทางด้าน นายพิรชัย เบญจรงคกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด (UTE) ภายใต้กลุ่มบริษัทเบญจจินดา กล่าวว่า UTE มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล และมีความพร้อมสนับสนุนความร่วมมือการพัฒนาประเทศร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อประโยชน์สูงสุดในการยกระดับทางเศรษฐกิจและการนำไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ UTE ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคม เสาอัจฉริยะ (Smart Pole) พร้อมแพลตฟอร์มบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ส่งเสริมเมืองน่าอยู่ ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเสาอัจฉริยะจะช่วยยกระดับการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการบริหารจัดการในระดับเมือง ซี่งเสาอัจฉริยะจะทำหน้าที่รับส่งข้อมูลอุปกรณ์ระหว่างตัวเสาไปยังแพลตฟอร์มส่วนกลางของเทศบาล สามารถแสดงผลตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงความสามารถอัจฉริยะในการป้องกันภัยและเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถาณการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่  

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะ กรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนาย่านอัจฉริยะให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ ว่า กฎบัตรเมืองอัจฉริยะคาดหวังในการใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปรับปรุงระบบกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสาธารณูปโภคของเทศบาล เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) อันเป็นต้นทางของการสร้างเมืองสุขภาพ (Healthy City) และเมืองเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน (Sustainable City) โดยข้อตกลงร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรประชาชน จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้ง การฟื้นฟูชุมชนให้มีศักยภาพในการรองรับความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืน

ส่วนขั้นตอนการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ย่านอัจฉริยะนั้น แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่
• ขั้นตอนแรก กฎบัตรแห่งชาติจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการวางแผนและการออกแบบทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน
• ขั้นตอนที่สอง เทศบาล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ
• ขั้นตอนที่สาม บริษัทเอกชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐด้านดิจิทัล ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
• ขั้นตอนที่สี่ เทศบาลและชุมชน รับผิดชอบในการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูชุมชน การออกข้อกำหนดหรือเทศบัญญัติในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ย่านอัจฉริยะ

ปัจจุบันเป็นเครือข่ายของกฎบัตรแห่งชาติ ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครระยอง เทศบาลนครรังสิต เทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลเมืองกระบี่ เทศบาลเมืองหัวหิน เทศบาลเมืองทุ่งสง เทศบาลเมืองชุมแพ และเทศบาลแก่งคอย โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“กฎบัตรแห่งชาติ คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบจะปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าเท่าตัว ภายหลังจากการลงทุนทั้งสี่ขั้นตอน หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นในย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี นับจากการลงทุนตามขั้นตอนเสร็จสิ้น” นายฐาปนา กล่าวทิ้งท้าย